ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ธ.ค.

สคช. จัดเวทีสัมมนา “พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” ดึงศักยภาพผู้เรียนในสังกัด สช. รองรับตลาดแรงงานในอนาคต

08.12.2566
8,717 View
สคช. จัดเวทีสัมมนา “พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” ดึงศักยภาพผู้เรียนในสังกัด สช. รองรับตลาดแรงงานในอนาคต
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดเวทีสัมมนา “การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. และสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ ในการดึงภาคีเครือข่ายร่วมใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อนำมาตรฐานอาชีพไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ สอดรับทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ โดยมีนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวเปิดงาน พร้อมร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาเอกชนนอกระบบให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก”
นางสาวจุลลดา กล่าวว่า จากข้อมูลประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับนโยบายการศึกษา ประจำปี 2567 ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนในทุกช่วงวัย ได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคม โดยเน้นให้ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข โดยเชื่อว่า สคช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมให้เป็นการตามกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับ Skill Certificate ติดตัว มีความพร้อมที่จะทำงาน หรือการให้สถานประกอบการทำการฝึก เพื่อรับการรับรอง ก่อนกลับไปต่อยอดในภาคการศึกษาได้ ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนนอกระบบ เป็น 1 ใน Training Provider ที่สำคัญของ สคช. ที่จะช่วยบ่มเพาะคนทำงานให้มีทักษะในระยะเวลาอันสั้นได้ ที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ได้เข้าใจการทำงานของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีการยึดโยงเข้าด้วยกันผ่านกลไกของมาตรฐานอาชีพ ด้วยการนำหลักสูตรมาเทียบความสอดคล้อง ไม่เพียงเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยประกันคุณภาพ เพิ่มจากกระทรวงศึกษาธิการได้อีกทางหนึ่ง นอกจากสถานศึกษา สคช. ยังทำงานกับสถานประกอบการ ในการยอมรับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งในอนาคตจะลงลึกไปถึงค่าตอบแทนของระดับคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างความมั่นคงทางหน้าที่การงาน และรายได้ที่เหมาะสมกับทักษะ ขณะเดียวกัน สคช. มีระบบ E-Workforce Ecosystem Platform หรือ EWE จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสการมีงานทำได้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับระบบ E-Trianing ที่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ Anywhere Anytime ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมช่วยป้อนกำลังคนที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงาน
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่าที่ผ่านมา สคช. และ สช. มีความร่วมมืออย่างเหนียวแน่น ในการส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การนำคุณวุฒิวิชาชีพ ไปต่อยอดในการเรียน สร้างความก้าวหน้าในการทำงาน พร้อมรับเงินเดือนที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการเชื่อมโยงตามมาตรฐานอาชีพ และเป็นหลักสูตรต้นแบบของ สช. จำนวน 38 หลักสูตร และคาดว่าในปีงบประมาณ 2567 จะมีการพัฒนาอีกกว่า 20 หลักสูตร ขณะเดียวกันได้มีการส่งเสริมให้ผุ้เรียนในโรงเรียนเอกชน สามารถเทียบโอนผลการเรียนจากโรงเรียนเอกชนนอกระบบได้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ สคช. จะร่วมกับ สช. ในการร่วมกันพัฒนาผู้เรียน สร้างแรงบันดาลใจไปสู่การประกอบอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับผู้เรียน ขณะเดียวกันก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ การทำงานและประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาต่อไปในอนาคต
ส่วนการเสวนาหัวข้อ การใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อสร้างความยั่งยืนให้การศึกษาเอกชนนอกระบบ" โดยมี นายพรชัย พิศาลสิษฐ์กุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) นายศรัณ อัยราน้อย รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ นางสาวกาญจนา หงษ์รัตน์
ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นางสาวโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ และนายพิริยะพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ โดยเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่า คุณวุฒิวิชาชีพจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนในภาคการศึกษาเอกชน และโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง สามารถสร้างคุณภาพการศึกษาที่สอดรับทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่กำลังต้องการกำลังคนที่ตอบตรงโจทย์ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การเทียบเคียงระบบการศึกษากับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน จะส่งผลต่อการหมุนเวียนกำลังแรงงาน จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ "การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ" และ "E-Workforce Ecosystem Platform เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกำลังคน และการเชื่อมโยงสมรรถนะการทำงานและการศึกษาด้วยระบบสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้" โดยสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ "หลักเกณฑ์การขึ้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรม และแนวทางการได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองสมรรถนะ และหนังสือรับรองสมรรถนะสนับสนุนการทำงานของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ" โดย สำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึง "สร้างเสริมสรรถนะให้ผู้เรียนผ่านนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ (E-training)" โดย สำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ อีกด้วย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ