ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ธ.ค.

สคช. ร่วมเวทีเสวนา ปลุกโอกาสกำลังแรงงานของประเทศ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

15.12.2566
7,692 View
สคช. ร่วมเวทีเสวนา ปลุกโอกาสกำลังแรงงานของประเทศ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19
นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเวทีสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาแผนงานวิจัยการวางแผนและพัฒนากำลังแรงงานหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยการวางแผนและพัฒนากำลังแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ทั้งต่อตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงสิ่งที่ส่งผลต่อการจ้างงานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยมี ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร หัวหน้าทีมวิเคราะห์ตลาดแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอผลการวิจัย
ในการนี้ นางสาวจุลลดา ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ปลุกโอกาสหลังวิกฤตโควิด-19 สร้างแรงงานเท่าทันการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ และ Professor Joshua D.Hawley Center for Human Resource Research, Ohio State University, USA โดยมี ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นางสาวจุลลดา กล่าวในการเสวนาว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ทำหน้าที่เชื่อมโลกของ Demand side และ Supply side เข้าด้วยกัน โดยมองกำลังแรงงานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรงงานใหม่ ที่กำลังจะจบการศึกษา โดยได้มีการทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาตลอด โดยพบว่านักศึกษาใช้เวลาอยู่ในระบบการเรียนมากเกินไป จะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนฝึกงานในสถานประกอบการ แล้วเก็บประสบการณ์การเรียนรู้ในเชิงอาชีพได้ สคช. จะเป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา สามารถเก็บสะสมความรู้แล้วกลับเข้ามาในระบบของการศึกษาได้เมื่อต้องการ ซึ่งเมื่อมีกำลังคนเข้าสู่ตลอดแรงงานอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนอีกหนึ่งกลุ่ม ที่เป็นกำลังแรงงานเดิม มีการทำงานในหน่วยงาน สถานประกอบการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งการนำดิจิทัล ในการทำงาน รวมถึงการพัฒนา Soft Skill ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้กำลังแรงงานมีการปรับตัว ผ่านระบบการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว โดย สคช. มีระบบ E-Training ที่มีหลักสูตรการฝึกอบรมมากกว่า 500 หลักสูตร อาทิ บาริสต้า ผู้ดูแลผู้สูงอายุ E-Commerce และ Smart Farmer เป็นต้นซึ่งมีผู้เข้าใช้งานเป็นจำนวนมากในช่วงที่เกิดการล็อกดาวน์ ไม่เพียงตอบโจทย์การเรียนรู้ Anytime Anywhere แต่ยังนำไปสู่การสร้างอาชีพสำรองรองรับในช่วงเกิดวิกฤตได้ ขณะเดียวกันก็มี E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) แพลตฟอร์มสำคัญที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านกำลังแรงงานกับอีกกว่า 50 หน่วยงานระดับประเทศมาแล้ว
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ