ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ก.พ.

สคช. ยกระดับท่องเที่ยวชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจปลายด้ามขวาน

03.02.2565
6,289 View

สคช. ยกระดับท่องเที่ยวชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจปลายด้ามขวาน
นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีมนวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. พร้อมด้วยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน  สมาคมภาษาเพื่อการศึกษาอาชีพและธุรกิจนำเที่ยว บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ร่วมเสวนาในหัวข้อ "New Trend Tourism เติมทุนพร้อมรับนักท่องเที่ยวหลังโควิด" 
นางสาววรชนาธิป กล่าวถึงการทำงานของ สคช. ว่า  ที่ผ่านมาได้ดำเนินการยกระดับผู้ประกอบอาชีพ ด้วยกลไกของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของอาหารฮาลาล ช่างเสริมสวย ด้วยการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำต้นทุนในพื้นที่มาจัดการให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการท่องเที่ยว (พ.ศ.2561-2580) ความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากร และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำได้ ทั้งนี้ สคช. ยังพร้อมเติมเต็มทักษะที่จำเป็นสำหรับกลุ่มอาชีพปลายด้ามขวาน ด้วยการพัฒนาให้ได้รับมาตรฐานเพื่อเป็นแต้มต่อในอาชีพ สร้างรายได้ยั่งยืน
นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสริมแนวคิดว่า การนำนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เป็นการติดปีกให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ทะยานได้เร็วขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพทั้งทางการตลาดและการสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ Metaverse หรือการนำเทคโนโลยี AR/VR มาประยุกต์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น
อาจารย์เพชรดา ศรชัยไพศาล สมาคมภาษาเพื่อการศึกษาอาชีพและธุรกิจนำเที่ยว กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมรรถนะด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชนว่า นับเป็นฐานรากที่สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นการสร้างมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ที่แม้จะมีภาพในเรื่องของความไม่สงบ แต่เมื่อนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับการบริการที่มีมาตรฐานจริงๆ ก็จะสามารถลบภาพจำที่รุนแรงได้
นายจักรภพ เมธธาวีชัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายส่งเสริมลูกค้าและพัฒนาผู้ประกอบการ บสย. ให้มุมมองว่า ต้นทุนทางการเงินในแต่ละอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวชุมชน ไม่เหมือนกัน อาชีพผู้ประกอบการโฮมสเตย์ และอาชีพผลิตของที่ระลึกอาจจะต้องมีความจำเป็นใช้เงินทุนมาก แต่อาชีพนักเล่าเรื่องท้องถิ่นอาจมีเพียงแค่ต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งนี้ สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบอาชีพคือต้องมีการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อเตรียมพร้อมในการต่อยอดเติมทุน
นางสาวจารุภัส วจนานวัช รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการตลาดลูกค้ารายย่อย ธนาคารออมสิน  พูดถึงโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพว่า โครงการเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและวุฒิบัติการอบรม สามารถใช้เป็นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อได้

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ