“เยาวชนทุกคนจะต้องเจออุปสรรคและความยากลำบาก แต่ประเด็นสำคัญคือ พวกเขาจะมีผู้ใหญ่สักคนคอยช่วยเหลือให้ผ่านพ้นปัญหาไปจนได้หรือไม่” ดร. เคนเนธ กินสเบิร์ก
“Every child will face adversity. The question is whether they have at least one adult who insists they can overcome it.” Dr. Kenneth Ginsburg
จากคำกล่าวของ ดร. เคนเนธ กินสเบิร์ก เกี่ยวกับความยากลำบากของเยาวชน NEET (Youth Not in Employment, Education, or Training) หรือเยาวชนกลุ่มอายุตั้งแต่ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบัน จึงได้ร่วมลงนามกับ Ms. Kyungsun Kim ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ในการนำมาตรฐานอาชีพผู้ทำงานกับเยาวชน (Youth Worker) ไปใช้ฝึกอบรมให้กับผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานกับเยาวชน และพัฒนา ผ่านระบบ Learning and Career Guidance (LCG) โดยใช้ AI วิเคราะห์ผลการประเมินข้อมูลแต่ละบุคคล โดยมีเป้าหมายนำร่องในพื้นที่แรกคือ จ.นครราชสีมา จำนวน 100-150 คน ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือน สิงหาคม 2568 และจะขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันได้ทำงานและร่วมจัดการฝึกอบรมกับหลายหน่วยงาน อาทิ มูลนิธิคุณพ่อเรย์ จ.ชลบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ อบต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาเยาวชน NEET

นอกจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายในชุมชนในพื้นที่ต่างๆ แล้ว สถาบันยังพยายามผลักดันในการนำโมดูลมาตรฐานอาชีพนำไปสู่การพัฒนาเป็นรายวิชาของหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้เกิดผลผลิตอาชีพผู้ทำงานกับเยาวชนเพิ่มมากขึ้น, การจัดทำชุดฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ E-learning ผ่านแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) รวมถึงผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานกับเยาวชนอยู่แล้วและมีทักษะที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพของสถาบัน ก็สามารถรับการประเมินเพื่อขอรับการรับรองแบบเทียบโอนประสบการณ์การทำงาน (RESK) กับองค์กรรับรองฯ ของสถาบันได้อีกด้วย ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการที่สถาบันดำเนินการจะช่วยลดปัญหาเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน เพราะขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะหรือหางานทำ เพราะรู้สึกว่าตนเองขาดโอกาส ซึ่งสอดรับกับวัตถุประสงค์ของโครงการ Thailand Zero Dropout ที่สถาบันมีความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อีกด้วย

ด้าน Ms. Kyungsun Kim ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟ ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานภายใต้รัฐบาลไทย อาทิ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะมี Social Worker อยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตามมองว่า ยังมีความแตกต่างกับ ผู้ทำงานกับเยาวชน (Youth Worker) แต่เชื่อว่าจะส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ ยูนิเซฟมีแผนที่จะนำร่องผลิต Master Trainer จำนวน 150 คน ใน 17 จังหวัด เพื่อขยายจำนวนผู้ทำงานกับเยาวชนให้มากขึ้น และหวังว่าหากเราให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ ที่ไม่ใช่เฉพาะภาคแรงงาน แต่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ หรือเยาวชนก็จะช่วยพัฒนาประเทศได้มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ได้กล่าวขอบคุณสถาบันที่สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้ทำงานกับเยาวชน (Youth Worker) เนื่องจากที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่ค่อยมีคนรู้จักการทำงานในด้านนี้มากนัก