ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผนึก 3 กระทรวง กลาโหม-อว.-ศึกษาธิการ ติดอาวุธทหารกองประจำการ ยกระดับความรู้ ความสามารถ และทักษะด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มโอกาสการมีงานทำหลังปลดประจำการ

    19.12.2566
    6,790 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผนึก 3 กระทรวง กลาโหม-อว.-ศึกษาธิการ ติดอาวุธทหารกองประจำการ ยกระดับความรู้ ความสามารถ และทักษะด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ เพิ่มโอกาสการมีงานทำหลังปลดประจำการ 19 ธันวาคม 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับทหารกองประจำการ ระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยาน นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นผู้ลงนามร่วมกับ พลเอกสนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ระบุว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มีความมุ่งหวังให้ทหารกองประจำการได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงาน โดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการพัฒนาตนเองตามความสมัครใจ สามารถเก็บสะสมหน่วยสมรรถนะการเรียนรู้จัดเก็บในแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio) และนำไปสู่การได้รับหนังสือรับรองสมรรถนะหรือประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป นอกจากนี้ยังจะได้มีการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ทหารกองประจำการอย่างมีประสิทธิภาพ เสมือนการติดอาวุธทางทักษะในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ เป็นการสร้างโอกาสในการทำงาน สร้างรายได้หลังปลดประจำการ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เมื่อต้องการ นายสุทิน กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ ถือเป็นการเดินหน้าปรับค่านิยมของสังคม 2 ฝ่าย คือประชาชนที่มองว่า 2 ปี ของการเป็นทหารกองประจำการ เป็นการสูญเสียโอกาส ให้กลายเป็น 2 ปี ของการเพิ่มศักยภาพของชีวิต ขณะที่ฝ่ายกองทัพ จากการฝึกเยาวชนเพื่อรบ ให้เปลี่ยนเป็นภาพของเยาวชนที่ได้รับการพัฒนา โดยครูฝึกที่มีศักยภาพ สิ่งสำคัญในความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยให้กลุ่มทหารกองประจำการ ได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ ได้การรับรองด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะถือเป็นใบนำทางให้ทหารที่ปลดประจำการได้นำไปประกอบอาชีพ หรือต่อยอดไปศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาต่อไปได้ สำหรับสาระสำคัญความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับทหารกองประจำการนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ทหารกองประจำการสามารถใช้เวลาระหว่างประจำการในขณะที่ว่างเว้นจากภารกิจให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะวิชาชีพได้ตามความสมัครใจ โดยกระทรวงกลาโหมจะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ อาทิ ศูนย์การศึกษาในค่ายทหารต่าง ๆ และเครือข่ายการเรียนรู้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งจัดให้มีผู้จัดการการเรียนรู้คอยให้คำแนะนำ ขณะที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะดำเนินการส่งเสริม พัฒนากำลังคนให้แก่ทหารกองประจำการให้ได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับหนังสือรับรองสมรรถนะหรือประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem หรือ EWE) ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่โดยนำระบบการเรียนรู้สมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพอิเล็กทรอนิกส์ (E-Training) เพื่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ โดยกระทรวงศึกษาธิการ และ อว. จะเป็นหน่วยจัดการศึกษา หรือหลักสูตรฝึกอบรมทั้งระยะสั้นและต่อเนื่องให้กับทหารกองประจำการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเปิดโอกาสให้ชายไทยที่เสียสละเข้ารับราชการทหารกองประจำการที่นอกจากจะทำหน้าที่รับใช้ชาติแล้ว ยังสามารถใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ด้วยการพัฒนาความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นต้นทุนของทรัพยากรทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เดินเครื่องเชิงรุก หนุนนโยบาย Soft Power ให้การรับรองกำลังคนที่มีฝีมือรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ผ่านงาน OTOP City 2023

    18.12.2566
    7,888 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เดินเครื่องเชิงรุก หนุนนโยบาย Soft Power ให้การรับรองกำลังคนที่มีฝีมือรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ผ่านงาน OTOP City 2023 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตรวจเยี่ยมการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน สาขาผ้าทอ และสาขาเครื่องจักสาน รวมถึงสาขาวิชาชีพการออกแบบและสร้างสรรค์ สาขาออกแบบแฟชั่น ซึ่งนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีมสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. และผู้เชี่ยวชาญจากคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก เข้าให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพถึงในงาน OTOP City 2023 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับ สร้างโอกาส สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ รวมถึงยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทยที่ได้มาตรฐานผลิตจากคนคุณภาพที่ได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ อันจะส่งผลให้เกิดชื่อเสียง และดึงดูดความสนใจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์งานฝีมือโดยคนไทยส่งเสริม Soft Power ตามแนวนโยบายรัฐบาล นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เดินเครื่องเชิงรุกจัดการประเมินให้กับผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน ผ้าทอ เครื่องจักสาน และออกแบบแฟชั่น รวมจำนวน 19 คน จากท้องถิ่นชุมชน ถึงในงาน OTOP City และเป็นครั้งแรกที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้จัดการประเมินเองโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก เข้าร่วมการประเมิน มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนด้าน soft power ในชุมชนและท้องถิ่น เพื่ออบรมต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมส่งเสริมให้ได้รับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งในหลายพื้นที่มีผู้ที่มีฝีมือ ในการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โอท็อป และงานออกแบบต่างๆ สร้างให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการส่งเสริมคุณค่า soft power ตามแนวนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับคุณภาพกำลังคนในอาชีพไม่ว่าจะเป็น อาชีพทอผ้า ออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้า และจักสาน ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐานและได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นการสืบสาน ส่งต่อศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามจากรุ่นต่อรุ่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชน ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากลต่อไป

  • สคช. ร่วมเวทีเสวนาวันผู้ย้ายถิ่นสากล เติมเต็มช่องว่างความเท่าเทียม ให้กลุ่มแม่บ้านหรือลูกจ้างทำงานบ้าน ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

    17.12.2566
    6,874 View

    สคช. ร่วมเวทีเสวนาวันผู้ย้ายถิ่นสากล เติมเต็มช่องว่างความเท่าเทียม ให้กลุ่มแม่บ้านหรือลูกจ้างทำงานบ้าน ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเวทีเสวนาเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day) ปี 2566 จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ร่วมกับกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการคุ้มครองลูกจ้าง ที่ทำงานบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับลูกจ้างในอาชีพอื่นๆ โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม” ท่ามกลางผู้บริหารหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงาน กลุ่มแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ทำอาชีพคนทำงานบ้าน เข้าร่วมในงาน ในการนี้นางสาววรชนาธิป ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ลูกจ้างทำงานบ้าน : คุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา บาทบาทความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย” กับผู้แทนปลัดกระทรวงแรงงาน นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย นายกอบ เสือพยัคฆ์ อดีตประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น นายประทีป โมวพรหมานุช เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และนาวสาวภัคชนก พัฒนถาบุตร ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดย ดร.กฤษฎิ์ กาญจนกิตติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ นางสาววรชนาธิป กล่าวในการเสวนาว่า จากข้อมูลในประเทศไทยมีกำลังแรงงานที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน หรือทำงานบ้านอยู่ประมาณ 317,224 คน โดยกว่า 203,000 คน เป็นคนไทย ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยอีกกว่า 5,000 คน และอีกกว่า 109,071 คน เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และอาจไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานได้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกำลังแรงงานกลุ่มนี้ จึงได้มีการดำเนินการในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงให้ความสำคัญกับจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเห็นอกเห็นใจเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย นอกจากนี้ สคช. ยังได้ร่วมกับ IOM เพิ่มเติมความรู้ให้กับแรงงานข้ามชาติ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับช่างก่ออิฐ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า อาชีพแม่บ้านในโรงแรม (Housekeeper) และอาชีพแม่บ้าน เพื่อให้ได้รับการรับรองจากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม สร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย และสามารถนำไปใช้ประกอบการทำงาน ภายหลังกลับไปยังภูมิลำเนาได้ต่อไป

  • สคช. ร่วมเวทีเสวนา ปลุกโอกาสกำลังแรงงานของประเทศ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

    15.12.2566
    7,676 View

    สคช. ร่วมเวทีเสวนา ปลุกโอกาสกำลังแรงงานของประเทศ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเวทีสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาแผนงานวิจัยการวางแผนและพัฒนากำลังแรงงานหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยการวางแผนและพัฒนากำลังแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ทั้งต่อตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงสิ่งที่ส่งผลต่อการจ้างงานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยมี ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร หัวหน้าทีมวิเคราะห์ตลาดแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอผลการวิจัย ในการนี้ นางสาวจุลลดา ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “ปลุกโอกาสหลังวิกฤตโควิด-19 สร้างแรงงานเท่าทันการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร.หลุยส์ คริสธานินทร์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ และ Professor Joshua D.Hawley Center for Human Resource Research, Ohio State University, USA โดยมี ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ นางสาวจุลลดา กล่าวในการเสวนาว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ทำหน้าที่เชื่อมโลกของ Demand side และ Supply side เข้าด้วยกัน โดยมองกำลังแรงงานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรงงานใหม่ ที่กำลังจะจบการศึกษา โดยได้มีการทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาตลอด โดยพบว่านักศึกษาใช้เวลาอยู่ในระบบการเรียนมากเกินไป จะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนฝึกงานในสถานประกอบการ แล้วเก็บประสบการณ์การเรียนรู้ในเชิงอาชีพได้ สคช. จะเป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา สามารถเก็บสะสมความรู้แล้วกลับเข้ามาในระบบของการศึกษาได้เมื่อต้องการ ซึ่งเมื่อมีกำลังคนเข้าสู่ตลอดแรงงานอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนอีกหนึ่งกลุ่ม ที่เป็นกำลังแรงงานเดิม มีการทำงานในหน่วยงาน สถานประกอบการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งการนำดิจิทัล ในการทำงาน รวมถึงการพัฒนา Soft Skill ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้กำลังแรงงานมีการปรับตัว ผ่านระบบการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว โดย สคช. มีระบบ E-Training ที่มีหลักสูตรการฝึกอบรมมากกว่า 500 หลักสูตร อาทิ บาริสต้า ผู้ดูแลผู้สูงอายุ E-Commerce และ Smart Farmer เป็นต้นซึ่งมีผู้เข้าใช้งานเป็นจำนวนมากในช่วงที่เกิดการล็อกดาวน์ ไม่เพียงตอบโจทย์การเรียนรู้ Anytime Anywhere แต่ยังนำไปสู่การสร้างอาชีพสำรองรองรับในช่วงเกิดวิกฤตได้ ขณะเดียวกันก็มี E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) แพลตฟอร์มสำคัญที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านกำลังแรงงานกับอีกกว่า 50 หน่วยงานระดับประเทศมาแล้ว

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมร่วมติดปีกผู้ประกอบการไทยหนุนรับรองกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Soft Power

    15.12.2566
    7,577 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมร่วมติดปีกผู้ประกอบการไทยหนุนรับรองกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Soft Power นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมในงานเปิดตัวโครงการ "ติดปีกทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทยด้วย Soft Power Xทรัพย์สินทางปัญญา" โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในพิธีเปิด และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษถึงแนวทางการพัฒนา soft power เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยเต็มสูบ สร้างความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปตลาดต่างประเทศ นายภูมิธรรม ระบุว่า ประเทศไทยต้องปรับรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำให้คนไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญและใช้ยกระดับการค้าระหว่างประเทศในเวทีโลกได้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าสร้างงานให้คนไทย 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาทต่อปีผ่านอุตสาหกรรม 11 สาขาซอฟต์พาวเวอร์ โดยกลุ่มสินค้าเป้าหมายสำคัญ คือ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ มวยไทย การท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านอาหารผ่านครัวไทยสู่ครัวโลก เช่น งาน Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท นางสาวแพทองธาร กล่าวปาฐกถาย้ำว่า เวลานี้นิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งสำคัญน้อยที่สุด แต่ที่สำคัญกว่าคือทิศทางของรัฐบาลในการเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม 11 สาขา ของประเทศ ด้วยการนำสินทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่าของประเทศทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยผลักดัน soft power ให้ขับเคลื่อนและเป็นช่องทางทางการตลาดให้กับสินค้าไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย แต่จะเป็นรูปธรรมได้ต้องทำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยทำอย่างต่อเนื่อง และวางแผนระยะยาว เมื่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อวัฒนธรรมและประเทศ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับคนไทยและภาคธุรกิจ สำหรับการพัฒนาต้นน้ำคือการพัฒนาทักษะให้กับคนไทย โดยสนับสนุนเพิ่มศักยภาพให้กับคนก่อน ซึ่งปัจจุบันมีโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย การอบรมเชฟอาหารไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล สร้างเชฟไทยส่งออกไปต่างประเทศทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก การสนับสนุนแฟชั่นครั้งใหญ่กรุงเทพเมืองแฟชั่นจุดพลุให้ทั่วโลกได้รู้จัก รวมถึงมวยไทยที่ปัจจุบันมีโรงยิมสอนมวยไทยทั่วโลกมีอยู่กว่า 4 หมื่นแห่ง เมื่อเราสอดแทรกรูปแบบการสอนที่เป็นไทยดั้งเดิมคนทั่วโลกก็จะรับรู้ รู้จักแก่นแท้ของมวยไทย การปลดล็อกกฎหมายสร้างแรงจูงใจ ก็จะช่วยดึงดูดการลงทุนมากขึ้น นางสาววรชนาธิป ระบุสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพพร้อมให้การรับรองคนในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยเริ่มจากกลุ่มที่สถาบันมีมาตรฐานอาชีพพร้อมให้การรับรอง อาทิ อาหาร ท่องเที่ยว มวยไทย ภาพยนตร์ นักเขียนบท เกมส์ อนิเมชัน ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล

  • สคช. การันตี ผู้ช่วยผู้จัดการร้านป้ายแดง พร้อมยกฟู้ดแพชชั่น เป็นสถานประกอบการด้านอาหารแห่งแรก ที่สร้างพนักงานมืออาชีพ

    12.12.2566
    8,177 View

    สคช. การันตี ผู้ช่วยผู้จัดการร้านป้ายแดง พร้อมยกฟู้ดแพชชั่น เป็นสถานประกอบการด้านอาหารแห่งแรก ที่สร้างพนักงานมืออาชีพ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ให้กับพนักงานที่สำเร็จการอบรมหลักสูตร Readiness AOC (Assistant Outlet Coach) ยกระดับ 22 พนักงาน จากบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารชื่อดัง อย่างบาร์บีคิวพลาซ่า สู่ผู้ช่วยผู้จัดการร้าน ระดับ 3 เพื่อให้บุคลากรตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขา (Assistant Outlet Coach) เกิดความภาคภูมิใจ มีความรัก และความผูกพันกับองค์กร โดยมี นางสาวชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสนับสนุนคณะกรรมการบริหาร พร้อมนายเรืองชาย สุพรรณพงศ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการองค์กร นางสาวนาทีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานบริหารสายงานทรัพยากรบุคคล และหน่วยธุรกิจพีเพิลคอนเน็ค และนายสัจจะ สัจจาวงศ์วณิชย์ ผู้บริหารฝ่าย-ปฏิบัติการบาร์บีคิวพลาซ่า ฝ่ายปฏิบัติการ ร่วมแสดงความยินดี นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า หนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ สำหรับบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ถือเป็นสถานประกอบการด้านอาหารแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการส่งเสริมพนักงานได้รับการฝึกฝน พัฒนา ผ่านการเทียบเคียงความสอดคล้องหลักสูตรการฝึกอบรมกับมาตรฐานอาชีพ พร้อมใช้คุณวุฒิวิชาชีพ เป็นเครื่องมือสร้างความก้าวหน้าให้กับพนักงาน ทั้งนี้ ในฐานะรองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีเชฟชุมพร แจ้งไพร เป็นประธานอนุฯ ได้มีนโยบายเพื่ออาหารไทย โดยให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ทำหน้าที่เป็นผู้ให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ แก่ผู้ที่ผ่านการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กำหนด โดยสถาบัน พร้อมที่จะผลักดันพนักงานของฟู้ดแพชชั่น ภายใต้แบรนด์ บาร์บีคิว พลาซ่า ให้เป็นหนึ่งในองค์กร ที่มีบุคลากรด้านอาหาร ผ่านการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป ซึ่งจะเป็น Soft Power ที่สำคัญ สามารถสร้างจุดขาย และสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งต่อไป นางสาวชาตยา กล่าวว่า ฟู้ดแพชชั่น ไม่ใช่แค่สถานประกอบการด้านอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นโรงเรียนที่พร้อมจะพัฒนาผู้เรียน พนักงาน ให้มีเก่งขึ้น และมีความรู้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ช่วยผู้จัดการสาขา ที่ได้รับการการันตี ด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชาชีพ ถือเป็นการพัฒนาไปอีกขั้น ในการยืนยันความเป็นมืออาชีพตัวจริง สร้างความภาคภูมิใจในอาชีพ ขณะเดียวกัน ส่งผลให้สถานประกอบการได้รับประโยชน์จากบุคลากรที่มีศักยภาพ และเกิดการพัฒนาในองค์กรอย่างยั่งยืนต่อไป

  • สคช. จัดเวทีสัมมนา “พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” ดึงศักยภาพผู้เรียนในสังกัด สช. รองรับตลาดแรงงานในอนาคต

    08.12.2566
    8,701 View

    สคช. จัดเวทีสัมมนา “พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” ดึงศักยภาพผู้เรียนในสังกัด สช. รองรับตลาดแรงงานในอนาคต สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดเวทีสัมมนา “การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ” โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. และสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ ในการดึงภาคีเครือข่ายร่วมใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อนำมาตรฐานอาชีพไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ สอดรับทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ โดยมีนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวเปิดงาน พร้อมร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาเอกชนนอกระบบให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก” นางสาวจุลลดา กล่าวว่า จากข้อมูลประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับนโยบายการศึกษา ประจำปี 2567 ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนในทุกช่วงวัย ได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคม โดยเน้นให้ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข โดยเชื่อว่า สคช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมให้เป็นการตามกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับ Skill Certificate ติดตัว มีความพร้อมที่จะทำงาน หรือการให้สถานประกอบการทำการฝึก เพื่อรับการรับรอง ก่อนกลับไปต่อยอดในภาคการศึกษาได้ ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนเอกชนนอกระบบ เป็น 1 ใน Training Provider ที่สำคัญของ สคช. ที่จะช่วยบ่มเพาะคนทำงานให้มีทักษะในระยะเวลาอันสั้นได้ ที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ได้เข้าใจการทำงานของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีการยึดโยงเข้าด้วยกันผ่านกลไกของมาตรฐานอาชีพ ด้วยการนำหลักสูตรมาเทียบความสอดคล้อง ไม่เพียงเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยประกันคุณภาพ เพิ่มจากกระทรวงศึกษาธิการได้อีกทางหนึ่ง นอกจากสถานศึกษา สคช. ยังทำงานกับสถานประกอบการ ในการยอมรับระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งในอนาคตจะลงลึกไปถึงค่าตอบแทนของระดับคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างความมั่นคงทางหน้าที่การงาน และรายได้ที่เหมาะสมกับทักษะ ขณะเดียวกัน สคช. มีระบบ E-Workforce Ecosystem Platform หรือ EWE จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสการมีงานทำได้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับระบบ E-Trianing ที่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ Anywhere Anytime ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมช่วยป้อนกำลังคนที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงาน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่าที่ผ่านมา สคช. และ สช. มีความร่วมมืออย่างเหนียวแน่น ในการส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การนำคุณวุฒิวิชาชีพ ไปต่อยอดในการเรียน สร้างความก้าวหน้าในการทำงาน พร้อมรับเงินเดือนที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการเชื่อมโยงตามมาตรฐานอาชีพ และเป็นหลักสูตรต้นแบบของ สช. จำนวน 38 หลักสูตร และคาดว่าในปีงบประมาณ 2567 จะมีการพัฒนาอีกกว่า 20 หลักสูตร ขณะเดียวกันได้มีการส่งเสริมให้ผุ้เรียนในโรงเรียนเอกชน สามารถเทียบโอนผลการเรียนจากโรงเรียนเอกชนนอกระบบได้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ สคช. จะร่วมกับ สช. ในการร่วมกันพัฒนาผู้เรียน สร้างแรงบันดาลใจไปสู่การประกอบอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับผู้เรียน ขณะเดียวกันก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ การทำงานและประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาต่อไปในอนาคต ส่วนการเสวนาหัวข้อ การใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อสร้างความยั่งยืนให้การศึกษาเอกชนนอกระบบ" โดยมี นายพรชัย พิศาลสิษฐ์กุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) นายศรัณ อัยราน้อย รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ นางสาวกาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นางสาวโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ และนายพิริยะพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ โดยเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่า คุณวุฒิวิชาชีพจะนำไปสู่การพัฒนากำลังคนในภาคการศึกษาเอกชน และโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง สามารถสร้างคุณภาพการศึกษาที่สอดรับทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่กำลังต้องการกำลังคนที่ตอบตรงโจทย์ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การเทียบเคียงระบบการศึกษากับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน จะส่งผลต่อการหมุนเวียนกำลังแรงงาน จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นของประเทศต่อไป นอกจากนี้ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ "การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ" และ "E-Workforce Ecosystem Platform เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกำลังคน และการเชื่อมโยงสมรรถนะการทำงานและการศึกษาด้วยระบบสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้" โดยสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ "หลักเกณฑ์การขึ้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรม และแนวทางการได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองสมรรถนะ และหนังสือรับรองสมรรถนะสนับสนุนการทำงานของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ" โดย สำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึง "สร้างเสริมสรรถนะให้ผู้เรียนผ่านนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ (E-training)" โดย สำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ อีกด้วย

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมแสดงความยินดี 14 ปี กรมหม่อนไหม

    06.12.2566
    8,033 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมแสดงความยินดี 14 ปี กรมหม่อนไหม นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมแสดงความยินดีวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม ครบรอบ 14 ปี สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาสู่ความยั่งยืน ซึ่งได้มีการพูดคุยหารือกันในเบื้องต้นว่าจะได้มีแนวทางการสร้างความร่วมมือในการทดสอบ ประเมิน ในอาชีพผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และอาชีพผู้ผลิตเส้นไหม ซึ่งสถาบัน ได้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว และจะเป็นการยกระดับคุณภาพให้กับกำลังคนในกลุ่มของผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผู้ผลิตเส้นไหม ซึ่งจะได้มีการหารือร่วมกันต่อไป

  • สคช. ระดมความคิดเห็น แก้ พรฎ. เปิดแนวทางการให้คุณวุฒิวิชาชีพ

    29.11.2566
    8,724 View

    สคช. ระดมความคิดเห็น แก้ พรฎ. เปิดแนวทางการให้คุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....จากประชาชนผู้เข้ารับบริการ องค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ องค์กรที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรมหรือการประเมิน และหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมให้การดำเนินภารกิจของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มีความเหมาะสม ถูกต้องตามหลัก และสอดคล้องกับภารกิจเพิ่มเติมที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี โดยมีนายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นและจัดทำร่างหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับสถาบัน และคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เข้าร่วมในงาน นายพิสิฐ กล่าวว่า ตลาดแรงงานในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการอย่างหลากหลายและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อกำลังคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ หากกำลังคนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ก็อาจสูญเสียโอกาสในการมีงานทำ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีหน้าที่ ที่จะต้องพัฒนากระบวนการ รูปแบบ และกลไกลในการพัฒนากำลังคนผ่านระบบคุณวุฒิวิชาชีพและการรับรองสมรรถนะ ช่วยส่งเสริมกำลังคนและกำลังแรงงานให้มีโอกาสได้ทำงานที่ดีขึ้น โดยมีภาระรายจ่ายกับการเรียนที่น้อยลง อันจะเป็นการก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในการพัฒนากำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดรับฟังความเห็นต่อการจัดทำ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่สถาบันจะได้ทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้าใจต่อการดำเนินภารกิจของสถาบัน และขอบเขตการดำเนินงานของผู้มีส่วนได้เสียตามที่กฎหมายกำหนดมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้กระบวนการที่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพกำหนดไว้ นางสาวจุลลดา กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้การดำเนินภารกิจของสถาบันสอดคล้องกับการปรับปรุง ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 8 ระดับ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างคุณวุฒิทางการศึกษา คุณวุฒิวิชาชีพ และทักษะของฝีมือแรงงานให้สามารถเทียบเคียงกันได้ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาคนให้เข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นการฝึกฝนด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอาชีพนั้น ๆ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน อันจะเป็นการส่งเสริม ให้เกิดแรงงานใหม่ที่มีคุณภาพในระบบ ได้รวดเร็วขึ้น และนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ไปใช้กับกำลังแรงงานในสถานประกอบการ ในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ตามความรู้ ความสามารถได้ แม้ไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษาก็ตาม สำหรับการปรับปรุงแก้ไขร่าง พรฎ. จะประกอบไปด้วยการปรับปรุงนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง การปรับปรุงวัตถุประสงค์การจัดตั้ง การปรับปรุงอำนาจและหน้าที่ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึงอำนาจของคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจการดำเนินงานใจปัจจุบัน ส่วนภารกิจที่จะมีการปรับปรุงและเพิ่มเติม จะนำไปสู่แนวทางการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพได้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งผ่านองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ องค์กรที่มีหน้าที่ให้บริการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ การให้การรับรองมาตรฐานอาชีพในสถานประกอบการ การเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ การส่งเสริมให้ผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพไปพร้อมกัน รวมถึงการร่วมกับหน่วยงานด้านต่างประเทศ ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ และการยอมรับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ภายในงานได้มีการจัดเวทีเสวนา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่มีต่อ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันคุณวุฒวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่..) พ.ศ. ... โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมด้วย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับด้านการเรียนรู้ นางสาวณัฐยา บุญเจริญ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท คาร์ซัม อะคาเดมี (ประเทศไทย) จำกัด ด้านการฝึกอบรม คุณวัลภา สถิรชวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเกิลส์ แอร์แอนด์ซี (ประเทศไทย) จำกัด ในด้านสถานประกอบการ และด้านองค์กรรับรอง โดย นส.พ.อภิวัจน์ พิเศษไพศาล กรรมการผู้จัดการบริษัท แม็คเวท จำกัด

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานอาชีพ (Skill Certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn)

    28.11.2566
    9,695 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานอาชีพ (Skill Certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) โดยมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือแนวทางการจัดทำธนาคารหน่วยกิต การเทียบคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงความต้องการให้การรับรองคุณวุฒิสามารถกำหนดค่าแรงได้ด้วย นางสาวจุลลดา ชี้แจงที่ประชุมว่าสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มีความพร้อมเชื่อมโยงกับระบบธนาคารหน่วยกิต รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอน และหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ สามารถปรับปรุงให้สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพได้ อันจะนำไปสู่การเทียบคุณวุฒิวิชาชีพกับคุณวุฒิทางการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันมีแพลตฟอร์ม EWE รองรับทั้งการสร้างแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ ระบบแนะแนวอาชีพ ระบบ E-Training E-Learning เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลา ระบบ E-Cupon สนับสนุนการฝึกอบรมพัฒนาตนเอง ระบบ JOB Matching รองรับคนหางาน งานหาคน รวมถึง Competency credit bank system ที่สามารถสะสมสมรรถนะผ่านการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อนำไปสู่การรับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่กำลังคนมุ่งสู่การทำงาน และต้องการมีโอกาสได้รับคุณวุฒิทางการศึกษาได้เมื่อต้องการ นายสิริพงศ์ ย้ำว่า มหาวิทยาลัยจะอยู่ไม่ได้ถ้ายังคิดในกรอบเดิม และสิ่งแวดล้อมจะบังคับให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ในฐานะเป็นคนภาคการศึกษาก็ต้องปรับตัวให้พร้อมสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลายระบบที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพดำเนินการ สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคการศึกษได้ในทันที เนื่องจากปัจจุบันเด็กมีความต้องการเรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เป็นไปตามเทรนด์ความต้องการของตลาดแรงงาน การเทียบเคียง การเทียบโอนคุณวุฒิจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับโลกการศึกษาและโลกการทำงานในเวลานี้ ขณะเดียวกันฝากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพพัฒนาการรายงานฐานข้อมูลของแพลตฟอร์ม EWE ให้สามารถดูเทรนด์อาชีพในปัจจุบัน และสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตแต่ละอาชีพที่ระบบแสดงผลเป็นอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการหรือไม่ ก็จะช่วยรองรับการผลิตคนจากภาคการศึกษาให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงด้วย ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมอาทิ สภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา ต่างเห็นตรงกันถึงประโยชน์ของแพลตฟอร์ม EWE และพร้อมให้สนับสนุนเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประโยชน์ของนักเรียน นักศึกษาต่อไป

  • นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หารือ ร่วมกับ พล.ต.บรรพต สังข์มาลา ผู้บัญชาการโรงเรียนช่างฝีมือทหารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พ.อ.ชวลิต ประดิษฐ์นวกุล รองผู้บัญชาการโรงเรียนฯ และคณะผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนช่างฝีมือทหาร

    28.11.2566
    8,212 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หารือ ร่วมกับ พล.ต.บรรพต สังข์มาลา ผู้บัญชาการโรงเรียนช่างฝีมือทหารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พ.อ.ชวลิต ประดิษฐ์นวกุล รองผู้บัญชาการโรงเรียนฯ และคณะผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างโรงเรียนช่างฝีมือทหารและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยพล.ต.บรรพต ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวทางการฝึกอบรมและเทียบคุณวุฒิกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในหลักสูตรทางการศึกษาสำหรับทหารกองประจำการ แนวทางการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตร ปวช. โรงเรียนช่างฝีมือทหารกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ รวมถึงระเบียบและกฎเกณฑ์ในการขอเป็นศูนย์ทดสอบและฝึกอบรมสำหรับโรงเรียนช่างฝีมือ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่ทหารกองประจำการได้มีอาชีพที่มั่นคงและรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ภายหลังปลดประจำการ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะได้มีความร่วมมือกันในอนาคตต่อไป #มืออาชีพ #ที่นี่มืออาชีพ #สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้รับแต่งตั้ง ร่วมคณะอนุกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

    27.11.2566
    8,154 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้รับแต่งตั้ง ร่วมคณะอนุกรรมการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ คณะอนุกรรมการชุดนี้จะร่วมกันจัดทําระบบวัดผลรับรองมาตรฐานอาชีพ (Skill certificate) และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to earn) สู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมเชื่อมโยงหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมกับมาตรฐานวิชาชีพต่าง ๆ เสริมศักยภาพแก่ผู้เรียน (Up-skill) หรือเพิ่มพูนทักษะใหม่ (Re-skill) หรือการปรับปรุงทักษะ สู่การรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ และสร้างทักษะใหม่ (New-skill) เพื่อตอบโจทย์กับโลกการทำงานในอนาคตให้แก่ผู้เรียนและประชาชนทั่วไป และ คณะอนุกรรมการจัดทำระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษาและธนาคารเครดิตแห่งชาติ (Credit Bank) ทั้งนี้ จะมีการประชุมหารือในประเด็นกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมถึงแนวทางการบูรณาการร่วมกันในอนาคต ในวันอังคาร 28 พ.ย.66 เวลา 13.30 น. ณ กระทรวงศึกษาธิการ

  • “อนุทิน” มอบ 6 นโยบาย ขับเคลื่อนการดำเนินงานสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ย้ำคุณวุฒิวิชาชีพต้องเป็นปริญญาอาชีพของประเทศไทย

    23.11.2566
    8,629 View

    “อนุทิน” มอบ 6 นโยบาย ขับเคลื่อนการดำเนินงานสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ย้ำคุณวุฒิวิชาชีพต้องเป็นปริญญาอาชีพของประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแล โดยมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบัน พร้อมผู้บริหารและบุคลากรของสถาบันให้การต้อนรับ นายอนุทิน กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการรับรองความรู้ ความสามารถ ให้กับคนทำงานในทุกมิติตั้งแต่คนหาเช้ากินค่ำ ไปจนถึงระดับ High skill และ Future skill ซึ่งหากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่และตามนโยบายรัฐบาลจะช่วย “ลดภาระของประชาชนคนทำงาน” ลดเวลาการหางาน และลดค่าใช้จ่ายในห้องเรียน ตนในฐานะกำกับดูแลสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้ความสำคัญกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่ Skill นำ Degree จึงต้องขับเคลื่อนงานให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน นายอนุทิน กล่าวมอบนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประกอบไปด้วย ส่งเสริมให้แรงใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วขึ้น เมื่อเข้าสู่สถานประกอบการ โดยได้รับการฝึกแล้ว ต้องได้รับการรับรองสมรรถนะ สามารถได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ขณะที่แรงงานเดิมต้องได้รับการพัฒนา ยกระดับสมรรถนะ ผ่านการส่งเสริมให้เครือข่ายของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ทำการฝึก และประเมินคนทำงานทั้งในและนอกระบบด้วยมาตรฐานอาชีพ พร้อมเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา ในการนำมาตรฐานอาชีพไปกำหนดเป็นหลักสูตร ฐานสมรรถนะ โดยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างคนให้ตรงกับงาน ที่สำคัญคือให้คุณวุฒิวิชาชีพ ต้องเป็น “Degree” ด้านอาชีพ หรือเป็นปริญญาด้านอาชีพ ควรให้การรับรองความสามารถ และทักษะ โดยเฉพาะผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรต่าง ๆ แต่มีความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทำให้เกิดคุณค่า สร้างนวัตกรรม รวมถึงเพิ่มโอกาสในการนำใบรับรองนี้ไปใช้สมัครงานใช้ประกอบอาชีพที่สุจริต แทนการใช้ใบปริญญา ขณะเดียวกันต้องร่วมผลักดันและขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem : EWE ให้เป็น Big Data “ด้านกำลังคน” ของประเทศไทย ให้คนหางาน เจองาน ให้นายจ้าง เจอคนหางาน ตลอดจน “เข้าถึง” ช่องทางสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทำงาน และได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะ “อย่างเป็นระบบ” สามารถเก็บสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ผ่าน Competency Credit Bank System เชื่อมกลับไปสู่โลกของการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีจำนวนกว่า 20 ล้านคน และสุดท้ายคือการยกระดับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสู่เวทีสากล ทำให้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพของไทยมีจุดยืนในเวทีสากล พร้อมสร้างการยอมรับมาตรฐานอาชีพของต่างประเทศ เตรียมความพร้อมให้คนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ หรือคนไทยที่เคยไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วต้องการกลับมาที่ประเทศไทย โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ 4 กระทรวงหลักอย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของประเทศไทย โอกาสนี้นางสาวจุลลดา ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังได้กล่าวแนะนำถึงโครงสร้าง วัตถุประสงค์และบทบาทของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้แก่รองนายกรัฐมนตรี และคณะ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานของสถาบันที่ผ่านมา อาทิ การจัดทำมาตรฐานอาชีพ การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ การนำมาตรฐานอาชีพไปพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ การสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยมาตรฐานอาชีพ การจัดทำฐานข้อมูลระบบคุณวุฒิวิชาชีพและข้อมูลกำลังแรงงาน เป็นต้น

  • สคช. ชู อสม.สระบุรี เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพต้นแบบ ตอกย้ำความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขท้องถิ่น สู่การเป็นสังคมสูงวัยคุณภาพ

    22.11.2566
    8,030 View

    สคช. ชู อสม.สระบุรี เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพต้นแบบ ตอกย้ำความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขท้องถิ่น สู่การเป็นสังคมสูงวัยคุณภาพ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ประจำเทศบาลเมืองสระบุรี และเทศบาลตำบลหน้าพระลาน รวมกว่า 280 คน ที่ผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาบริการสุขภาพ อาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ ระดับ 1 จากโรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล องค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลาตามมาตรฐานอาชีพ โดยมี นายธีรรัตน์ จึงยิ่งเรืองรุ่ง นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี นางสมฤดี จันทร์สุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลหน้าพระลาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากเทศบาลเมือง และเทศบาลตำบลหน้าพระลาน และดร.พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์ ผู้บริหารโรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล ให้การต้อนรับ นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีจำนวนทารกเกิดใหม่น้อยลง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เข้ามาแทนที่ จากข้อมูลมีการคาดการณ์ว่านับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (super aged society) เมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ทั้งนี้กลุ่ม อสม. ที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จะมีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับความสำเร็จในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ อสม. ที่จะมีโอกาสได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคุณวุฒิที่เทียบได้กับคุณวุฒิทางการศึกษา สามารถใช้รับรองความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมืออาชีพ นางสมฤดี กล่าวว่า เทศบาลตำบลหน้าพระลาน มีกลุ่ม อสม. ที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุอยู่จำนวนมาก ซึ่งหลายคนระดับการศึกษาอาจไม่สูงนัก การที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเข้ามาให้การรับรองประสบการณ์การทำงานให้เหล่า อสม. จึงจะช่วยยกระดับศักยภาพให้กับกลุ่ม อสม. และจะเป็นใบเบิกทางในการสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างการยอมรับในการทำหน้าที่ได้อย่างมืออาชีพ นอกจากจะทำให้สุขภาพ และคุณภาพชีวิตประชาชน ผู้สูงอายุในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงแล้ว ยังเป็นการยกระดับศักยภาพผู้นำด้านสุขภาพ นักบริบาล และจิตอาสา ให้ได้รับการรับรองด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพอีกด้วย เช่นเดียวกับนายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี ที่ยอมรับว่า กลุ่ม อสม. ที่ได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ไม่เพียงจะเป็นการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุได้ถูกต้องตามหลักการ ช่วยลดการบาดเจ็บระหว่างการดูแลได้ และยังเป็นความรู้ติดตัว ที่สามารถถ่ายทอดส่งต่อลูกหลานในชุมชน ให้มีการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้สังคมผู้สูงอายุในพื้นที่จะได้รับการดูแลทั้งกายและใจ เป็นสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ สำหรับจังหวัดสระบุรี นับเป็นพื้นที่ต้นแบบในการยกระดับความรู้ ความสามารถเพิ่มศักยภาพ และได้การรับรองประสบการณ์ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้ ได้เตรียมขยายผลไปยังอสม. ในจังหวัดอื่นๆ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ให้มีโอกาสได้รับการรับรองด้วยคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เสนอตัวพร้อมให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย หนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร

    21.11.2566
    7,224 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เสนอตัวพร้อมให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย หนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะรองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร (คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ) เข้าร่วมประชุมนัดแรก โดยมีเชฟชุมพร แจ้งไพร เป็นประธานอนุฯ พร้อมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอ 3 โครงการ Quick Win เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเพื่ออาหารไทย ด้วยการจัดทำหลักสูตร คู่มือการเรียนการสอน สร้างเทรนเดอะเทรนเนอร์ ส่งเสริมในเรื่อง เรียนทำอาหาร งานดี มีเงินเดือน จับคู่โรงเรียนสอนทำอาหารกับร้านอาหาร เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกงานช่วงเรียนแบบได้รับค่าแรง และเมื่อเรียนจบจะสามารถทำงานกับร้านอาหารได้ทันที โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นผู้ให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแก่ผู้ที่ผ่านการเรียนการสอนการอบรมตามหลักสูตรดังกล่าว โดยคัดเลือกสุดยอดเชฟจากกองทุนหมู่บ้าน 75,086 หมู่บ้าน สร้างเชฟ 75,086 คน ตั้งเป้าปีที่ 1 มีผู้ที่ผ่านการเรียนรู้ 10,000 คน โดยอย่างน้อย 8,500 คน ต้องได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ และมีงานทำไม่ต่ำกว่า 5,000 คน นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นควรเสนอโครงการ Thai Food Channel ด้วยการทำคอนเทนต์สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารไทยเพื่อเผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์มผ่าน influencer ตั้งเป้ายอดการเข้าชมตลอดโครงการ 500 ล้านวิว รวมถึงเห็นควรเสนอโครงการ ร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย Local Chef Restaurant ด้วยแนวคิดการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบท้องถิ่นสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ต่อยอดวัตถุดิบท้องถิ่นมาทำเป็นอาหาร สร้างตัวตนให้อาหารท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างร้านค้าชุมชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้ตามมา ขณะเดียวกันยังมีอีก 6 โครงการซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่จะดำเนินการต่อไปทั้งการจัด World Tour อาหารไทยไป 7 ทวีป 43 ประเทศทั่วโลก จัดตั้งกองทุน Soft Power จัดโครงการศูนย์รวมอาหาร Thai Food World Congress การยกระดับอาหาร สร้างภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหารไทย รวมถึงการสร้างนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มออกสู่ตลาดสากลด้วย

  • สคช. เปิดตัว Pet Groomer รพ.สัตว์ทองหล่อ ขึ้นแท่นสถานประกอบการแห่งแรก ที่มีมาตรฐานอาชีพอาบน้ำ-ตัดขนสัตว์ รับรองโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

    20.11.2566
    6,904 View

    สคช. เปิดตัว Pet Groomer รพ.สัตว์ทองหล่อ ขึ้นแท่นสถานประกอบการแห่งแรก ที่มีมาตรฐานอาชีพอาบน้ำ-ตัดขนสัตว์ รับรองโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับบริษัท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จำกัด และกรุงเทพมหานคร สานพลังเปิดตัวมาตรฐานอาชีพสำหรับสถานประกอบการ "อาชีพอินเทรนด์ Pet Groomer ดูแลน้องสัตว์เลี้ยงแสนรัก อย่างมืออาชีพ" หลังโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ขึ้นแท่นสถานประกอบการแห่งแรกของประเทศ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพสำหรับสถานประกอบการ สาขาวิชาชีพธุรกิจบริการ อาชีพพนักงานอาบน้ำและตัดขนสัตว์เลี้ยง ระดับ 4 จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายบุญชู ทองเจริญพูลพร ที่ปรึกษาผู้บริหาร โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ และคณะผู้บริหารของทั้ง 3 หน่วยงาน เข้าร่วมในงาน นางสาวจุลลดา กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สัตว์เลี้ยงถูกปรับเปลี่ยนสถานะจากเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน กลายมาเป็นสมาชิกในครอบครัว ช่วยสร้างคุณค่าทางจิตใจ ทำให้ผู้เลี้ยงมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงเติบโตมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ความเป็นอยู่ และดูแลเรื่องสุขภาพ ดังนั้นบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ว่าจะได้รับการบริการอย่างมีคุณภาพ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ถือเป็นหนึ่งในสถานประกอบการ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ จนเป็นสถานประกอบการแห่งแรก ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจบริการ อาชีพพนักงานอาบน้ำและตัดขนสัตว์เลี้ยง ในระดับ 4 การจัดงานในครั้งนี้ เกิดจากการสานพลังของ 3 หน่วยงานหลัก ที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้มาตรฐานอาชีพพนักงานอาบน้ำและตัดขนสัตว์เลี้ยงได้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จและสมบูรณ์ โดยโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สร้างมาตรฐานอาชีพ Pet Groomer จากสมรรถนะที่ผู้ประกอบการต้องการ กรุงเทพมหานคร ฝึกอาชีพสำหรับผู้ว่างงานและผู้ต้องการประกอบอาชีพอิสระ นำมาสู่การรับรองคุณวุฒวิชาชีพ Pet Groomer มืออาชีพ ทำงานได้ ทำงานจริง มีสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ สำหรับอาชีพพนักงานอาบน้ำและตัดขนสัตว์เลี้ยง ระดับ 4 โดยเป็นมาตรฐานอาชีพสำหรับผู้ที่มีสมรรถนะในการทำงานอาบน้ำและตัดขนสัตว์เลี้ยงเฉพาะทางตามหลักการหรือทฤษฎีในการดูแลสัตว์เลี้ยง สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานได้ด้วยตนเองเพื่อควบคุมคุณภาพงานหรือผลงานได้ โดยมีสมรรถนะคือ รับความต้องการของลูกค้า ให้บริการอาบน้ำ สัตว์เลี้ยง ให้บริการเสริมในการดูแลสัตว์เลี้ยงตามความต้องการของลูกค้า ตัดขนสัตว์เลี้ยงด้วยกรรไกร ตรวจสอบเก็บรายละเอียดหลังการให้บริการ ส่งมอบสัตว์เลี้ยงคืนลูกค้า ตามคู่มือระเบียบการปฏิบัติงานการให้บริการ ตามมาตรฐานการทำงานของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้พนักงาน บุคลากรในเครือข่ายของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ได้การรับรองสมรรถนะการทำงานด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นสร้างความภาคภูมิใจ สร้างความมั่นคงให้ผู้ปฏิบัติงาน และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการให้กับลูกค้าได้ว่า สัตว์เลี้ยงของท่านจะได้รับบริการจากพนักงานคุณภาพ และมีมาตรฐานรับรองความเป็นมืออาชีพ