ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

มี.ค.

สคช. ร่วมกับสถาบันฮาลาล ม.อ. เดินหน้าพัฒนากำลังคนด้านฮาลาล สร้างโอกาสและความท้าทายในตลาดโลกด้วยมาตรฐานอาชีพ

15.03.2566
7,776 View

สคช. ร่วมกับสถาบันฮาลาล ม.อ. เดินหน้าพัฒนากำลังคนด้านฮาลาล สร้างโอกาสและความท้าทายในตลาดโลกด้วยมาตรฐานอาชีพ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดยนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จัดกิจกรรม “ต่อยอดอาชีพด้วยฮาลาล สร้างโอกาสธุรกิจฮาลาลสู่ระหว่างประเทศ” เพื่อยกระดับอาหารฮาลาลของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมี ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายมายิด บิน มูฮัมหมัด อัล-ฎออียาน ที่ปรึกษาฝ่ายศาสนาอิสลามประจำสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย, นายประสาร บุญส่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, นายฐานิศร์ ณ สงขลา อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงปานามา ประเทศบาห์เรน, นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา, ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นางสาวภัสสรา อมรพิมลธรรม ผู้จัดการแผนกกลยุทธ์การตลาดสาขา ศูนย์การค้าเซ็นทรัล หาดใหญ่ และบุคลากรจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมงาน

นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก จากการส่งออกวัตถุดิบ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สด ผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าประมง เนื้อไก่ และอาหารทะเลแปรรูป รวมมูลค่าส่งออกราว 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นร้อยละ 2.44 ของตลาดโลก ประกอบกับการที่ประเทศไทยฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ เดินทางเข้าไทยกว่า 7 หมื่นคน ผู้ประกอบอาหารฮาลาลจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างมูลค่า จัดการความปลอดภัยตามกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลได้ถูกต้องตามหลักศาสนา และเป็นไปตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมมือกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งเสริมต่อยอดให้ผู้สำเร็จหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล ให้ได้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อยืนยันความสามารถในการทำงานทั้งในสาขาวิชาชีพการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ในงานควบคุมความปลอดภัยในอาหาร และการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทย สร้างความเชื่อมั่นและยอมรับของผู้บริโภคทั้งชาวไทย และพี่น้องมุสลิมทั่วโลกด้วย ซึ่งมีผู้ประกอบการ นักศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการอบรมและเข้าสู่การประเมินเพื่อรับคุณวุฒิวิชาชีพ ได้เข้าทำงานเป็นเชฟในโรงแรม และให้บริการร้านอาหารมาแล้วหลายราย

ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าสถาบันฮาลาล ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มีการจัดทำหลักสูตร Non-degree การจัดการระบบกิจการฮาลาล รุ่นที่ 3 โดยการเทียบเคียงหลักสูตร การจัดการระบบกิจการฮาลาล (Halal System Management) ประเมินความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อาชีพผู้ควบคุมความปลอดภัยอาหาร ระดับ 4 มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 31 ราย ซึ่งคนแหล่านี้เป็นบุคลากรที่มั่นใจได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านอาหารฮาลาลในทุกมิติ และดำเนินงานด้านกิจการอาหารฮาลาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านฮาลาลและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้หลักสูตรการจัดการระบบมาตรฐานเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศต่อไป

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ