ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

มี.ค.

สคช. ส่องอนาคตตลาด EV พุ่ง จับมือผู้เชี่ยวชาญดันมาตรฐานอาชีพผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ สร้างโอกาส Upskill - Reskill แรงงานคุณภาพเปลี่ยนผ่านสู่ยุค EV

16.03.2565
5,177 View
สคช. ส่องอนาคตตลาด EV พุ่ง จับมือผู้เชี่ยวชาญดันมาตรฐานอาชีพผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ สร้างโอกาส Upskill - Reskill แรงงานคุณภาพเปลี่ยนผ่านสู่ยุค EV
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมหน่วยงานด้านไฟฟ้าชั้นนำ อาทิ ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากบริษัท BMW ตัวแทนจาก Tuv Sud ตัวแทนจาก Delta และผู้เชี่ยวชาญด้าน EV จัดกิจกรรมเปิดโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สาขายานยนต์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ EV (Electric Vehicle) นำร่อง 4 อาชีพ คือ ช่างประกอบแบตเตอรี่ ช่างซ่อมยานยนต์ไฟฟ้า ช่างติดตั้งและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จ และช่างโปรแกรมเมอร์ยานยนต์ไฟฟ้า
นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวระหว่างการเปิดโครงการว่า การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นตัวเร่งให้ทักษะกำลังแรงงานต้องปรับตัวให้ทัน เพราะ EV จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดการผลิตและสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ไม่ว่าจะสนับสนุนการผลิต หรือมาตรการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ ล้วนบ่งบอกว่าต้องเร่งพัฒนาทักษะกำลังแรงงานให้ทันเทคโนโลยี ก่อนที่เทคโนโลยีจะมาแทนที่งาน ซึ่งการจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขายานยนต์สมัยใหม่ จะเป็นกรอบสำคัญที่จะรับรองสมรรถนะตัวบุคคลในอุตสาหกรรมนี้ได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในระดับใด และสามารถพัฒนางาน พัฒนาผลผลิตที่รับผิดชอบได้แค่ไหน ซึ่งตอบโจทย์การเป็นแรงงานคุณภาพในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต
รศ.ดร. ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี กล่าวว่า ในตลาดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีความก้าวหน้าไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น การพัฒนานวัตกรรมการต่างๆ ให้ตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดได้ว่า เทคโนโลยีของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น การเตรียมกำลังคนในเรื่องของการบำรุงรักษา การซ่อมบำรุง การประกอบยานยนต์เหล่านี้ ต้องใช้ความสามารถทางวิชาชีพ ซึ่งการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ในสาขายานยนต์สมัยใหม่ จะช่วยพัฒนาบุคลากรได้ตรงตลาดความต้องการของสถานประกอบการทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับได้ว่า การติดตั้งประกอบ รวมถึงการซ่อมบำรุงมีคุณภาพ เป็นไปตามาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ทั้งนี้คาดการณ์ว่ามาตรฐานอาชีพ สาขายานยนต์สมัยใหม่ จะมีการจัดทำแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2565
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ