สคช. ร่วมวงวุฒิสภา ถกแผนพัฒนาประชากรไทยเตรียมรองรับสังคมสูงวัย ย้ำ สคช. ร่วมสร้างกำลังคนมืออาชีพ พัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมการเสวนา "แผนพัฒนาประชากรไทยกับการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย : การขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรม" จัดโดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยนายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย เป็นประธานในการเสวนา และมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 60 คน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมการปกครอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงกลุ่มแรงงานเช่น สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกระจกและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
การเสวนาในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 ซึ่งทั้งสองแผนมีเนื้อหาสาระสำคัญที่เสริมการดำเนินงานเพื่อการรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย รวมถึงได้ถกถึงข้อมูล ประสบการณ์ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับแผนดังกล่าวของแต่ละหน่วยงาน และสร้างความร่วมมือการขับเคลื่อนแผนในลักษณะแบบหุ้นส่วน (Governance by Partnerships) รวมถึงเชื่อมประสานการทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ที่ทำหน้าที่เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ภาควิชาการ ที่ทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการทำงาน (Content) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน ในการขับเคลื่อนการรองรับสังคมสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม
ในการเสวนาดังกล่าว ได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะที่มีหน้าที่ในการประเมินและรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นการรองรับการสร้างทักษะการทำงานในโลกยุคปัจจุบันที่ต้องการระบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่เหมาะกับทุกคน เป็นการเรียนรู้และยกระดับทักษะตลอดชีวิต โดยสถาบันฯ ได้ทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ในการนำคุณวุฒิวิชาชีพไปพัฒนาทักษะกำลังแรงงานทั้งในสายงานหลัก และในการสร้างอาชีพเสริมรองรับสังคมสูงวัย นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้ทำงานร่วมกับ UNICEF และ IOM ในการส่งเสริมให้ประชากรกลุ่มด้อยโอกาส ทั้งเยาวชนกลุ่ม NEET (Youth Not in Education, Employment, nor Training) และแรงงานข้ามชาติ ได้รับการพัฒนาทักษะในการทำงาน ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ส่งเสริมให้มีทักษะที่สูงขึ้น เพิ่มโอกาสในการทำงานและรายได้ที่สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีข้อเสนอแนะจากวงเสวนาให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พิจารณาเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ได้เข้าถึงโอกาสเข้าสู่คุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานและความก้าวหน้าในอาชีพอีกด้วย