ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

ส.ค.

สคช. จัด Focus Group อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ ส่งเสริมการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ

30.08.2565
7,553 View
สคช. จัด Focus Group อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ ส่งเสริมการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ
นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานเปิดการประชุมวางแผนการดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) โดยมี นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ Ms. Aleksandra Lasota Programme Manager, Labour Mobility and Social Inclusion Unit, IOM Thailand ร่วมกล่าวแนะนำภารกิจของทั้ง 2 องค์กร ในการนี้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ นางสาวนฤมล พูลทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานสถาบันฯ และตัวแทนจากภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และบริษัทนำเข้าแรงงานข้ามชาติ เข้าร่วมประชุม
นายนคร กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ แรงงานก่อสร้าง แรงงานในธุรกิจอาหารแปรรูปและกิจการประมง โดยที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติ มีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสถานภาพที่ผิดกฎหมาย ยิ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลไกคุ้มครองทางสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้ ดังนั้นการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ จากความร่วมมือระหว่าง สคช. และ IOM จะเป็นการริเริ่มต้นแบบที่ดีของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นางสาวจุลลดา กล่าวว่า สคช. มีการทำงานร่วมกันกับ IOM มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้กับแรงงานข้ามชาติ อย่างอาชีพแม่บ้าน ช่างก่ออิฐ และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ให้ได้รับการรับรองจากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้โครงการ Promise ดังนั้น เพื่อให้เกิดการสรรหาแรงงานข้ามชาติ อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบ พร้อมได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การประชุมครั้งนี้จะได้รับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปจุดเริ่มต้นของการจ้างงานที่มีคุณค่า ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและยั่งยืน
Ms. Aleksandra กล่าวว่ารู้สึกยินดี ที่มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ ด้วยแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม หรือ IRIS ที่พัฒนาโดยอ้างอิงจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลนานาชาติ ซึ่งครอบคลุมการจัดหางานให้กับแรงงานทั้งหมด รวมถึงแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้การพัฒนาผู้ที่จะมาทำหน้าที่สรรหาแรงงานต่างชาติ โดยครอบคลุมบริษัทนำเข้าแรงงานตั้งแต่ต้นทาง จะทำให้เกิดการนำเข้าแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และได้รับการยอมรับในระดับสากล
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ