ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สคช. แท็กทีมผู้เชี่ยวชาญจากครัวการบินไทย ปักหมุดตลาดกรุงไทยและตลาดใต้ทางด่วน ย่านเพลินจิต หามืออาชีพร้านอาหารริมบาทวิถี หรือ Street Food

    23.02.2564
    490 View

    สคช. แท็กทีมผู้เชี่ยวชาญจากครัวการบินไทย นำโดยเชฟวัชรพงศ์ เมฆผึ้ง และทีมเชฟจากครัววันดี ปักหมุดตลาดกรุงไทยและตลาดใต้ทางด่วน ย่านเพลินจิต หามืออาชีพร้านอาหารริมบาทวิถี หรือ Street Food มีผู้ประกอบอาหารเกือบ 100 ราย เข้าวินรับป้ายการันตี

  • สคช. ปั้น “พี่เลี้ยงเด็กมืออาชีพ” การันตีความสามารถว่าดูแลเด็กได้ทั้งร่างกาย และจิตใจ

    21.02.2564
    517 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ อาชีพผู้ดูแลเด็ก ชั้น 1 ให้กับผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคล โดยมีมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะ จำนวนกว่า 140 คน โดยมีคุณจิตราภา หิมะทองคำ เลขาธิการมูลนิธิฯและรศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ กรรมการมูลนิธิฯ ให้การต้อนรับ นางสาวจุลลดา ระบุว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กก่อนหน้านี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายจับตาเรื่องการดูแลเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ การมีผู้ดูแลเด็กที่มีความรู้และทักษะ จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา สคช. ได้ร่วมกับบุคลากรในอาชีพ ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญจัดทำมาตรฐานอาชีพ และให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการการันตีระดับชาติ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง ที่ต้องส่งบุตรหลานไปอยู่ในความดูแลของคนอื่น ซึ่งผู้ผ่านการประเมินฯ อาชีพดูแลเด็ก ระดับที่ 1 จะเป็นผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐาน มีสมรรถนะในด้านโภชนาการเด็ก ดูแลกิจวัตรประจำวัน ความปลอดภัย และการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก นางจารุดา วงษ์สะและ พี่เลี้ยงเด็กจากศูนย์เด็กเล็กชุมชนมัสยิดย่ามีลุ้นอิบาดะห์ หนึ่งในผู้ผ่านการประเมินผู้ดูแลเด็กระดับ 1 บอกว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก หลังต้องผ่านการอบรมและทดสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งจากนี้ก็สามารถนำความรู้ความสามารถทั้งหมดที่มีไปใช้ในวิชาชีพอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาเด็กๆ ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้านครูต้อ ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ในฐานะผู้แทนองค์กรรับรองฯ ย้ำถึงความสำคัญของการประเมินสมรรถนะอาชีพผู้ดูแลเด็กว่า นอกจากจะเป็นการันตีถึงความรู้และทักษะแล้ว ยังถือเป็นความภูมิใจและกำลังใจสำคัญให้คนในอาชีพ เนื่องจากผู้ดูแลเด็กบางคน ไม่มีคุณวุฒิการศึกษา แต่ยังมีโอกาสได้รับคุณวุฒิวิชาชีพจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สคช. ก็จะเป็นเครื่องการันตีระดับความรู้และความสามารถ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองในการทำงานของพวกเขาได้ ว่าสามารถดูแลบุตรหลานได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน ไม่สร้างบาดแผลที่โหดร้ายให้กับเด็ก เพราะเด็กช่วงวัย 5 ขวบปีแรก เป็นช่วงวัยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เป็นวัยที่ต้องได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นพิเศษ ดังนั้นการมีพี่เลี้ยงที่มีทักษะตรงตามมาตรฐานอาชีพ จะส่งผลให้เด็กเติบโตและเรียนรู้ได้ตามพัฒนาการสมวัย ที่สำคัญเวลานี้ยังมีผู้ดูแลเด็กในเครือข่ายทั่วประเทศอีกว่า 2 พันคน ที่ต้องการเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อการรับรองสมรรถนะเป็นผู้ดูแลเด็กอย่างมืออาชีพ สำหรับการประเมินสมรรถนะผู้ดูแลเด็กระดับ 1 จะมีการประเมิน ทดสอบเรื่องของทักษะการป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน การดูแลกิจวัตรประจำวันของเด็ก รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ-อารมณ์ สังคม สติปัญญา การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ และอุปกรณ์สำหรับเด็ก เพื่อยืนยันความพร้อมทั้งสภาพจิตใจ และร่างกายของตัวผู้ดูแล ว่าสามารถปฏิบัติงานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานอาชีพหรือไม่

  • อนุ ฯ NQF เร่งหารือเตรียมคลอดหลักสูตรมาตรฐานต่อยอดกำลังคนทั้ง 7 +1 สาขาอาชีพ

    19.02.2564
    433 View

    ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมนางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันฯ และคณะทำงาน เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมีนายถาวร ชลัษเฐียร เป็นประธานอนุกรรมการ ฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2565 หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยวันนี้ได้เป็นการติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมหลักสูตรต่อยอดกำลังคนทั้ง 8 สาขาอาชีพ ที่มีทั้งสาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์, สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน, สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน, สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน, สาขาอาชีพอาหารและการเกษตร, สาขาอาชีพแม่พิมพ์และเครื่องมือการแพทย์ และสาขาอาชีพช่างอากาศยาน ซึ่งที่ประชุมได้เน้นความสำคัญ ในการเตรียมพร้อมหลักสูตรในอาชีพที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ประธานการประชุมยังได้เน้นย้ำเร่งรัดแผนการดำเนินงานที่ให้มีความชัดเจน ทันต่อการเดินหน้ารองรับการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อผลักดันการใช้ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) เป็นกลไกในการเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ของภาคการศึกษา และกำลังคนในอาชีพ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงานและสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่ผู้อบรมในหลักสูตร ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อพิจารณาอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

  • เตรียมเฮ สคช. ผุดไอเดีย โมบาย ซาลอน บริการช่างทำผมมืออาชีพถึงหน้าบ้าน

    17.02.2564
    456 View

    ดร.สมศักดิ์ ชลาชล เจ้าของธุรกิจเสริมสวยชลาชล ในฐานะนายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย พร้อมคุณวิบูลย์ สมบูรณ์ศักดิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส.ซี เสรีชัย บิวตี้ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ Lolane ร่วมหารือกับนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ถึงแนวคิดการสร้างอาชีพให้คนในชุมชนแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ก่อนผุดไอเดีย “Mobile Salon” หรือ ร้านเสริมสวยเคลื่อนที่ มุ่งสร้างอาชีพช่างทำผมเจาะลึกไปถึงชุมชนทุกพื้นที่ นางสาววรชนาธิป เปิดเผยว่า แนวคิดร้านเสริมสวยเคลื่อนที่ เป็นไอเดียที่พัฒนามาจาก Food Truck หรือร้านอาหารเคลื่อนที่ ที่สามารถให้บริการเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกพื้นที่ ซึ่งร้านตัดผมเคลื่อนที่โดย สคช. ก็จะให้บริการทั้งสอน และตัดผมจากฝีมือช่างมืออาชีพ ให้กับผู้บริโภคได้ทุกชุมชนถึงหน้าบ้าน เรียกว่าเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน สมเป็นเมืองแห่งมืออาชีพ ซึ่ง สคช.จะเร่งเดินหน้าประสานงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ไอเดีย “โมบาย ซาลอน” เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป ด้าน ดร.สมศักดิ์ ประกาศความพร้อมในฐานะเป็นครูที่ผลิตลูกศิษย์ให้เป็นช่างผมมืออาชีพมาแล้วจำนวนมาก และทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือ สร้างอาชีพให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่ง “โมบาย ซาลอน” จะไม่เพียงสร้างอาชีพในคน แต่ยังเป็นการสร้างงานให้กับคนในอาชีพที่ผ่านการประเมินแล้วด้วย ที่สำคัญผู้บริโภคก็ได้ใช้บริการจากช่างตัดผมมืออาชีพ ที่พร้อมเดินสายตัดผมให้ถึงหน้าบ้านกันเลยทีเดียว

  • สคช. ลุยตลาดพลู ปั้นมืออาชีพ “สตรีทฟู้ด” ขนาดร้านเปิดมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกยังออกปาก เป็นครั้งแรกที่ได้รับการันตีเป็น “มืออาชีพ”

    15.02.2564
    473 View

    สุริยากาแฟ ร้านเก่าแก่อายุ 103 ปี ย่านตลาดพลู ออกปาก “อยู่มาร้อยกว่าปี เป็นครั้งแรกที่มีหน่วยงานลงพื้นที่ประเมินสมรรถนะ การันตีความเป็นมืออาชีพให้ถึงหน้าร้าน” หลัง นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำทีม เชฟทิพย์ เชฟจำนงค์ และทีมผู้เชี่ยวชาญจากครัววันดี เดินเครื่อง Street Food on Tour in Bangkok ลงประเมินสมรรถนะให้ผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี ย่านตลาดพลูกว่า 20 ร้าน มีผู้ผ่านการประเมินเกือบ 50 ราย เพื่อให้การการันตีความเป็นมืออาชีพ ให้กับผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี เนื่องจากหลายรายได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ สคช. หาแนวทางในการช่วยเหลือด้วยการจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ เข้าทำการประเมินสมรรถนะ ให้การการันตี พร้อมแนะช่องทางการต่อยอดในอาชีพ ที่สำคัญเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ร้านต่างๆ ที่ผ่านการประเมิน กระตุ้นให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความเป็นมืออาชีพ และกล้าที่จะตัดสินใจเลือกซื้อ ชิม ใช้บริการ ด้านผู้ประกอบอาหารย่านตลาดพลูไม่ว่าจะเป็น สรินทร์ทิพย์ ขนมเบื้องไทย ที่ตกทอดสูตร และร้านมากว่า 4 รุ่น 110 ปี ร้านนัทกาแฟสด ก๋วยเตี๋ยวหลอดทรงเครื่อง, ยงค์ กาแฟ &ขนมปังสังขยา, เจ้กุ้งอาหารตามสั่ง, ย้งฮุยก๋วยจั๊บน้ำใส, หมวยหลี ไอติมไข่แข็ง น้ำแข็งใส, เจ๊เช็ง ต้นตำรับกว่า 70 ปี ก๋วยจั๊บตลาดพลู, กุ๋ยช่าย อาม่า, ฉอเล้งหมี่กระเฉด รวมทั้งข้าวต้มปลาร้านดังอย่างเล็กหงษ์ และอีกหลายร้าน ต่างพากันดีใจที่ สคช. เข้ามาประเมินความเป็นมืออาชีพการันตี พร้อมส่งต่อป้าย “มืออาชีพ” ตอกย้ำในเรื่องมาตรฐานการประกอบอาหารว่ามีความสะอาด ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเลือกเข้าร้าน เลือกซื้อได้มากขึ้น เพราะการระบาดโควิด-19 ได้ทำให้ยอดขายลดลงไปไม่น้อย

  • สคช. ถก แมคโคร เตรียมยกระดับคนขับรถพุ่มพวงในตำนาน เป็นมืออาชีพ

    15.02.2564
    471 View

    คุณจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ พร้อมคุณวีระชัย ตู้วชิรกุล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาร้านค้าปลีก นำทีมแมคโคร 4.0 จากบริษัทสยาม แมคโคร จำกัด(มหาชน) เข้าหารือนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หารือถึงแนวทางความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้ประกอบการรถโชว์ห่วยเคลื่อนที่ หรือที่เรามักเรียกกันว่า รถพุ่มพวง ให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งเชื่อว่าการจัดทำมาตรฐานรถโชว์ห่วยเคลื่อนที่ จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรกรจากการนำผลผลิตที่มีคุณภาพมาขาย สร้างโอกาส สร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ที่ใช้บริการรถพุ่มพวงในตำนาน ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความสะอาดปลอดภัย ทั้งนี้ยังมีการหารือแนวทางเชื่อมโยงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสยาม แมคโคร เพื่อประยุกต์มาตรฐานอาชีพ มาใช้ในการทำงาน และผ่านการการันตีด้วยใบรับรองความเป็นมืออาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอีกด้วย

  • สคช. ผนึก 5 องค์กร เดินเครื่องสร้างเกษตรกรตัวเล็กให้เป็นมืออาชีพ

    10.02.2564
    461 View

    นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อม ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกำกับวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง เป็นประธานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร (สอก.) 4 ภาค โดยมี ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายทองอาบ บุญอาจ รักษาราชการแทน ผอ.สอก.ภาคกลาง นายประจักษ์ ทาสี ผอ.สอก.ภาคเหนือ นายพรณรงค์ วรศิลป์ ผอ.สอก.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายวิศวะ คงแก้ว ผอ.สอก.ภาคใต้ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อร่วมกันยกระดับบุคลากรในอาชีพด้านการเกษตร รวมทั้งผู้ที่อยู่ในคุณวุฒิการศึกษา หรือกลุ่มที่ฝึกอบรมร่วมกับ สอก. ให้มีโอกาสได้เข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ มี สคช. ให้การการันตีเป็นมืออาชีพ ก็จะช่วยเพิ่มทักษะ ความเชี่ยวชาญ สร้างโอกาส และเสริมสร้างขีดความสามารถในอาชีพได้ จากเกษตรกรตัวเล็กสามารถนำพัฒนาตัวเองให้เป็นเกษตรกรตัวใหญ่ได้ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ นายนคร กล่าวว่า อาชีพด้านการเกษตร เป็นอาชีพเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถนำไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรได้พร้อมกันทั้ง 4 ภาค ซึ่งสถาบันฯ พร้อมผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคน ผลิตนวัตกรรมด้านการเกษตรใหม่ๆ หรือสมาร์ทฟาร์ม สอดรับการปรับเปลี่ยนของโลกอนาคต ซึ่ง สอก. มีความพร้อมให้การศึกษา ขณะที่ สคช. ก็มีมาตรฐานพร้อมพัฒนาทักษะและให้การการันตีด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมสนับสนุนคนในอาชีพให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต Life Long Learning ดร.นพดล กล่าวย้ำว่า สคช. ไม่เพียงให้การการันตียกระดับบุคคลด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ แต่ยังหาช่องทางในการต่อยอดในอาชีพให้กับคน ทั้งการอบรม สอนแนวทางทำการตลาด รวมทั้งส่งเสริมแหล่งเงินทุนด้วยความร่วมมือกับธนาคารออมสิน และ SME D Bank ที่พร้อมพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อมืออาชีพ ช่วยให้เกษตรกรตัวเล็กมีโอกาสเติบโตในธุรกิจเป็นเกษตรกรตัวใหญ่ได้ ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา ระบุว่า เป็นแนวทางที่ดีที่ สคช. มาร่วมส่งเสริมให้วิถีเกษตรก้าวไกล โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม อาชีพหลักของประเทศ พร้อมเข้าสู่การวัดระดับตัวเอง ได้รับการการันตีจากหน่วยงานภาครัฐ ที่จะสามารถช่วยต่อยอดในอาชีพได้ในอนาคตต่อไป รวมทั้งเป็นแนวทางการต่อยอดความร่วมมือในการจัดทำมาตรฐานอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เพื่อรองรับกำลังคนในอาชีพใหม่มาพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการเตรียมผลักดันและพัฒนาอาชีพ “ชลกร” ให้เป็นนักบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยใช้เกณฑ์การประเมินสมรรถนะของบุคลากรตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีอาชีพ มีรายได้ ช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน สำหรับบันทึกข้อตกลงทั้ง 5 ฝ่าย มีหัวใจสำคัญคือการร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานอาชีพของบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรที่เข้ามาศึกษาและฝึกอบรม ผลักดันให้มีการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ รวมไปถึงการผลักดันให้มีการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น Upskill และ Reskill จากเกษตรกร สู่ผู้ประกอบการเกษตรตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสและขีดความสามารถในการเป็นเกษตรกรให้เป็นมืออาชีพต่อไป

  • สคช. การันตีความพร้อมร่วมมือกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมฯ เพิ่มทักษะให้ผู้ต้องขัง เตรียมความพร้อมเป็นคนดี มีอาชีพเมื่อกลับคืนสู่สังคม

    10.02.2564
    388 View

    คณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นำโดยนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมด้วย ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันฯ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันฯ และนายสุรงค์ บูลกุล กรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกับผู้บริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) อาทิศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมถกกันถึงแนวทางการพัฒนามาตรฐานอาชีพให้กับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอาชีพอิสระอย่างการประกอบอาหารริมบาทวิถี หรือ Street Food ช่างผม ช่างเชื่อม และอาชีพอิสระอื่นๆ ที่ผู้ต้องขังทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนมากกว่า 370,000 ราย ตามข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ สามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้หลังจากพ้นโทษ โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมฯ พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าไปช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอน พัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับผู้ที่อยู่ในเรือนจำด้วยการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นแนวทางในการพัฒนาสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ซึ่ง สคช. มีความพร้อมเป็นนักปั้น วิทยากรมืออาชีพ (Train the Trainer) ที่จะช่วยเพิ่มความรู้ที่ถูกต้องและพัฒนา ทักษะของการเป็นวิทยากร ในการวางแผนการสอน การเตรียมการที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็สามารถเข้าอบรมในหลักสูตรได้ และนำไปพัฒนาผู้ต้องขังก่อนคืนสู่สังคมได้ โดยสอดรับกับมาตรฐานอาชีพที่กำหนด นายนคร บอกว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐจะร่วมกันช่วยเหลือสังคม ด้วยการสร้าง พัฒนาทักษะด้านอาชีพที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลฝึกอบรมให้กับผู้ที่อยู่ในเรือนจำ นับเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ต้องขังได้โอกาส ได้กำลังใจในการทำอาชีพสุจริต กลับตัวเป็นคนดีได้เมื่อพ้นโทษในอนาคต ด้าน ดร.นพดล ตอกย้ำว่า สคช. มีความพร้อมจัดอบรมให้กับผู้ต้องขัง ด้วยการหาทางเลือกในอาชีพจากคำแนะนำ การให้ความรู้โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์ ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้เรียนรู้ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะความรู้ หลักการประกอบอาชีพจะเป็นแนวทางให้นำไปสู่การประเมินสมรรถนะ ได้ใบรับรองฯ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสร้างอาชีพของตัวเองได้เมื่อมีโอกาสได้กลับคืนสู่สังคม

  • ไปต่อ...สคช.พาเชฟบุกตลาดวังหลัง ค้นหามืออาชีพ Street Food

    08.02.2564
    438 View

    เหล่าบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารชื่อดัง ย่านวังหลัง ขานรับเข้าสู่การประเมินสมรรถนะ เป็นมืออาชีพ Street Food หรือร้านอาหารริมบาทวิถี หลังสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) ยังคงเดินหน้าลงพื้นที่ใจกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำทีมเชฟผู้เชี่ยวชาญ ตรวจความสะอาด ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้ประกอบการบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่ สคช.ลงพื้นที่มาประเมินถึงร้านในครั้งนี้ รู้สึกดีใจมาก เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้ามาเดินหาซื้ออาหารลดลง แต่เมื่อมีการประเมิน ที่มีทั้งการดูเรื่องความสะอาดและปลอดภัยจะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจมากขึ้น สำหรับ Street Food On Tour in Bangkok เริ่มเฟ้นหามืออาชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จัดประเมินให้กับผู้ประกอบอาหารเป็นมืออาชีพมาแล้วทั้งสามย่าน บางลำพู อารีย์ สามแพร่งและตลาดน้อย กว่า 100 ร้านค้า ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตัวและช่วยกระตุ้นยอดขาย ได้เป็นอย่างดี

  • อาชีวะ ตั้งโต๊ะหารือ สคช. นำมาตรฐานอาชีพไปปรับหลักสูตรการเรียน ยกระดับให้เด็กอาชีวะเป็นมืออาชีพ

    05.02.2564
    389 View

    ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นำคณะผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 นำโดยนายนนทพงศ์ ยอดทอง ผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 ร่วมหารือนางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ถึงแนวทางการนำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพไปปรับใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน นักศึกษาอาชีวะฯ และสามารถต่อยอดเข้าสู่การประเมินสมรรถนะ เป็นเด็กอาชีวะที่มีความแข็งแกร่ง แข็งแรงในด้านอาชีพ ยกระดับให้สามารถออกมาปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพและได้รับความไว้วางใจจากองค์กร เบื้องต้นเตรียมนำร่องนำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดกำลังคนในอนาคต อาทิ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทักษะด้านอีคอมเมิร์ซ ทักษะด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ก่อสร้าง โลจิสติกส์ การโรงแรม ยานยนต์ รวมทั้งความปลอดภัยด้านอาหารและเครื่องดื่ม ไปปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้อง รองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

  • สะเทือนกันทั้งย่าน สคช. นำทีมตะลุยประเมิน Street Food On Tour in Bangkok ย่านสามแพร่ง – ตลาดน้อย พร้อมดึงเน็ตไอดอล “หญิงน้ำปรุง จรุงจิต” เทรนด์การจัดดอกไม้ให้เป็นอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3

    04.02.2564
    585 View

    นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ควง 6 เชฟดัง ทั้ง “เชฟปึง” ไวภพ แซ่ปึง เชฟเสาวกิจ ปรีเปรม จากสมาคมเชฟประเทศไทย “เชฟเป้” กฤษณะ ธิบูรณ์บุญ และ “เชฟโจ๊กหมู” ธเนศ กลิ่นไกล จากสมาคมพ่อครัวใหญ่ประเทศไทย เชฟบุษยมาลี ถนนทิพย์ เชฟศรีปภัสร์ จิโรจน์คุณาธิป เชฟสุระเมษฐ์ จิโรจน์คุณาธิป พร้อมเชฟผู้เชี่ยวชาญจากครัววันดี เดินเท้าตะลุยประเมิน Street Food On Tour in Bangkok การันตีความเป็นมืออาชีพให้กับผู้ประกอบอาหารกันถึงหน้าร้าน ย่านสามแพร่ง และตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร นางสาววรชนาธิป บอกว่าการประเมินฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือคนในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ลงไปช่วยการันตีให้กับผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถีถึงหน้าร้านว่าสามารถปรุงอาหารได้อย่างมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ มีความสะอาด ปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานที่สถาบันฯ กำหนด เนื่องจากมาตรฐานสมรรถนะที่นำมาประเมินเน้นในเรื่องของสุขอนามัย การจัดเก็บวัตถุดิบ การบริหารคน บริหารวัสดุที่ใช้ ความสะอาด ปลอดภัยเป็นสำคัญ เพราะถือเป็นหัวใจที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ เลือกชิม โดยเฉพาะในภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคแบบนี้ ที่สำคัญผู้ผ่านการประเมินจะมีชื่อถูกปักหมุดลงในแอปพลิเคชัน ปักหมุดมืออาชีพ ก็จะยิ่งเป็นการช่วยให้ทุกการค้นหาร้านอร่อยอย่างมืออาชีพทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งช่วงนี้หลายคน Work From Home ไม่อยากออกนอกบ้าน ก็ค้นหาจากแอปฯ แล้วจัดการเลือกชิม ช้อป ใช้บริการได้แบบไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดเชื้อโรคนอกบ้านได้อย่างสบายใจ แต่ยังเป็นการเพิ่มรายได้พยุงให้ผู้ขายยืนอยู่ได้ในห้วงวิกฤตเช่นนี้ ขณะที่ผู้ประกอบอาหารจากทั้ง 2 ย่าน พากันตอบรับการประเมินเป็นอย่างดี อย่างร้านก๋วยเตี๋ยวปลานายมัก ย่านสามแพร่ง ยอมรับว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการระบาดของโรค เมื่อมีหน่วยงานภาครัฐลงมาประเมิน และการันตีให้ถึงที่ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกันมากขึ้น ก็จะเท่ากับเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการด้วย และจากการสอบถามผู้บริโภค ก็ให้การตอบรับ และชื่นชมที่ สคช. ลงมาประเมิน การันตีให้คนในอาชีพ เพราะไม่เพียงจะช่วยให้ผู้บริโภคได้กินอาหารสะอาด ปลอดภัย แต่ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วย สำหรับ Street Food On Tour in Bangkok ครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ต่อเนื่องจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ได้จัดประเมินให้กับผู้ประกอบอาหารเป็นมืออาชีพมาแล้วในพื้นที่ สามย่าน บางลำพู และอารีย์ มีผู้ผ่านการประเมินรวมทั้งหมดกว่า 100 คน ในวันเดียวกัน สคช. ยังได้ดึงเน็ตไอดอล “หญิงน้ำปรุง จรุงจิต” ฉายาเน็ตไอดอลสายไทยที่โด่งดังบนโลกโซเชียล มาร่วมเป็นวิทยากรจัดอบรมออนไลน์ การจัดดอกไม้อย่างมืออาชีพ ผ่านโปรแกรม Zoom เปิดฉากด้วยการจับ รองเอ๋ วรชนาธิป จันทนู จัดดอกไม้แนวสากล ต้อนรับวันวาเลนไลนไทน์ สร้างมูลค่าเพิ่มจากหลักร้อย ไปสู่หลักพันบาท ก่อนจะสอนเทคนิคง่ายๆ การจัดดอกไม้ถวายพระ และร้อยพวงมาลัยสร้างอาชีพ ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้ลงทะเบียนเข้าอบรมมากกว่า 500 คน และมีคนไทยจากต่างประเทศทั้งอิตาลี และเยอรมนี เข้าร่วมการอบรมด้วย รวมทั้งมีผู้สนใจเข้าชมการไลฟ์สดผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊กสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มากกว่า 60,000 คน ที่สามารถนำความรู้ ทักษะที่ได้ไปต่อยอดสร้างอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 ได้ และจะยังมีการอบรมออนไลน์ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือคนในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

  • สคช. ประเดิม สตรีทฟู้ดออนทัวร์ วันแรก ตะลุย สามย่าน บางลำพู อารีย์ จับ 9 ร้านเด็ดของย่าน เป็นผู้ประกอบอาหารมืออาชีพ

    01.02.2564
    381 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) นำทีม ผู้เชี่ยวชาญจากครัววันดี ลงพื้นที่ประเมินร้านอาหารริมบาทวิถี Street Food On Tour วันแรก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาหาร คนในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ การันตีความเป็นมืออาชีพกันถึงหน้าร้าน ว่าผู้ที่เข้าประเมินสมรรถนะ สามารถปรุงอาหารได้อย่างมีมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ ที่สำคัญจัดการปักหมุดลงในแอปพลิเคชัน ปักหมุดมืออาชีพ ก็ช่วยให้ทุกการค้นหาทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งช่วงนี้หลายคน Work From Home ไม่อยากออกนอกบ้าน ก็ค้นหาจากแอปฯ แล้วจัดการเรียกชิม ช้อป ใช้บริการจากคนมืออาชีพแบบไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดเชื้อโรคนอกบ้านได้อย่างสบายใจ ด้านผู้ประกอบอาหารจากร้าน Cockle Seafood บอกว่า เป็นเรื่องดีต่อใจที่ สคช. ลงมาประเมินให้ถึงหน้าร้าน เนื่องจากร้านอาหารเป็นอาหารทะเล ยิ่งได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การมาการันตีให้ถึงที่ครั้งนี้ เชื่อมั่นเลยว่าจะทำให้ลูกค้าที่ยังเลใจที่จะเลือกรับประทาน ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าสามารถบริโภคอาหารจากร้านได้อย่างสะอาด ปลอดภัย เพราะร้านนี้ “มืออาชีพ”

  • สคช. หารือ รมช.ศึกษา ดันเกษตร 4 ภาค สู่ความเป็นมืออาชีพ

    01.02.2564
    440 View

    นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เข้าพบ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกำกับวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง เพื่อหารือแนวทางการยกกระดับเกษตรกรสู่ความเป็นมืออาชีพ หลัง สคช. เตรียมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการเกษตรสู่ความเป็นมืออาชีพ ร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร (สอก.) ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ เพื่อร่วมกันยกระดับบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร รวมทั้งผู้ที่เข้ารับการศึกษา และฝึกอบรมร่วมกับ สอก. ให้มีโอกาสได้เข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ได้รับการการันตีเป็นมืออาชีพโดยหน่วยงานภาครัฐอย่าง สคช. ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำงาน ที่สำคัญสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนด้วย นางสาววรชนาธิป ระบุว่าความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น สามารถช่วยผลักดันเกษตรซึ่งเป็นฐานรากของประเทศก้าวไกลได้จากการพัฒนาทักษะ และความรู้ของกำลังคน เกษตรกรตัวเล็กมีช่องทาง มีโอกาสในการขยายเส้นทางในอาชีพจากการส่งเสริม สนับสนุนจากทั้ง 2 หน่วยงาน โดย สอก. มีความพร้อมให้การศึกษา ให้ความรู้ สคช. ก็มีมาตรฐานที่พร้อมพัฒนาทักษะ ให้การการันตีด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เทียบเคียงมาตรฐานสากล ที่สามารถยังให้การต่อยอดด้วยช่องทางต่างๆ ทั้งการอบรม ทำการตลาด รวมทั้งผลักดันส่งเสริมแหล่งเงินทุน เพื่อทำให้เป็นเกษตรกรตัวใหญ่อย่างมืออาชีพได้ในอนาคต ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา ให้ความสนใจแนวทางการดำเนินงานสถาบันฯ พร้อมชี้ว่าเป็นแนวทางที่ดีที่ สคช. มาร่วมส่งเสริมให้วิถีเกษตรก้าวไกล สร้างเกษตรสมัยใหม่ โดยเฉพาะการสนับสนุนคนในอาชีพให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และมีช่องทางให้ต่อยอดในอาชีพได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา สามารถที่จะพัฒนา วัดระดับตัวเอง เมื่อผ่านการประเมินฯ จะมีโอกาสได้รับการการันตีจากหน่วยงานภาครัฐ นอกเหนือไปจากวุฒิการศึกษา ก็ยังมีคุณวุฒิวิชาชีพ ที่จะสามารถช่วยต่อยอดในอาชีพได้ในอนาคต เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศต่อไป

  • สคช. ดัน การรับรองผู้ตัดสิน-ผู้ฝึกสอน กีฬาทางน้ำ เป็นครั้งแรกของประเทศ

    27.01.2564
    515 View

    นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) พร้อมพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล อุปนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย (ส.ว.ท.) เป็นประธานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สคช. และ ส.ว.ท. เพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพการกีฬา อาชีพผู้ตัดสินกีฬาทางน้ำ และอาชีพผู้ฝึกสอน กีฬาทางน้ำ โดยมี ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และแพทย์หญิงศุภลักษณ์ อินทรพิชัย เลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย (ส.ว.ท.) ร่วมลงนาม ท่ามกลางสักขีพยาน อาทิ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันฯ คณะผู้บริหารสถาบันฯ พร้อมด้วย พลเอกอภิชาต แสงรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย และคุณสุภัท กุขุน ที่ปรึกษาสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย นายนคร กล่าวย้ำให้เห็นความสำคัญของอาชีพผู้ตัดสินกีฬาทางน้ำ และผู้ฝึกสอนกีฬาทางน้ำ ว่ามีความสำคัญอย่างมาก และเป็นอาชีพที่ยังไม่เคยมีสมาคมใดให้การรับรองมาตรฐานอาชีพมาก่อน และในปี 2564 สคช. มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต Life Long Learning ซึ่งอาชีพเกี่ยวกับกีฬาทางน้ำก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ควรได้รับการพัฒนาให้คนในอาชีพมีทักษะ ฝีมือเทียบเท่าระดับสากล ด้าน ดร.นพดล กล่าวว่า สคช. บุคคลากรในอาชีพเกี่ยวกับกีฬาทางน้ำเป็นอีกอาชีพที่ต้องเร่งพัฒนาให้ก้าวไปสู่ในระดับสากล จึงได้มีการจัดทำมาตรฐานด้านผู้ฝึกสอน และผู้ตัดสิน พร้อมประเมินตามมาตรฐานสมรรถนะ นำไปสู่การรับรองมาตรฐานจากสถาบันฯ เพราะทั้ง 2 อาชีพ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้นักกีฬาไทยไปไกลระดับโลก โดยเฉพาะการผลักดัน Sport Tourism ที่นักท่องเที่ยวหันมาให้ความสนใจกีฬาทางน้ำเอ็กซ์ตรีมเป็นจำนวนมาก และไทยก็มีแหล่งกีฬาทางน้ำอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ฝึกสอน - ผู้ตัดสินกีฬาทางน้ำ ได้การรับรองเป็นคนแรกของไทยในเร็วๆ วันนี้ แพทย์หญิงศุภลักษณ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำ กล่าวว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้คนในอาชีพมีความภูมิใจ ตอบรับนโยบายกีฬาสร้างชาติของรัฐบาลอย่างเต็มที่ สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะกีฬาว่ายน้ำให้กับบุคลากรด้านการกีฬาในระดับภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการนำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้ สำหรับสาขาวิชาชีพการกีฬา อาชีพผู้ตัดสินกีฬาทางน้ำ และอาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาทางน้ำ ไปพัฒนาสมรรถนะทางการกีฬาให้กับบุคลากรของ ส.ว.ท. อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกีฬาว่ายน้ำให้ได้มาตรฐาน มีการรับรองบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬาในอนาคต

  • สคช. หนุนทางรอด!! ในยุคโควิด-19

    25.01.2564
    665 View

    การกลับมาของ “โควิด-19” ระลอกใหม่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่งผลกระทบในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าฉุดให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดำดิ่งไปไม่น้อย รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พยายามออกแบบทิศทางการขับเคลื่อนประเทศให้ล้อไปกับวิกฤตที่เกิดขึ้นให้ได้ ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่เรารู้กันดีอยู่ว่า เราพึ่งพาตัวเองได้ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การบริหารงบประมาณรายจ่ายทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน และที่แน่นอนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ก็จะช่วยให้การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งในแง่ธุรกิจ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ไม่หยุดชะงัก ด้วยนโยบายของรัฐบาลนับเป็นหัวใจให้ทุกหน่วยงานต้องปรับตัว ระดมทุกความคิด ทุกสรรพกำลัง เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากสามารถเดินต่อไปได้ หรือแม้จะทำอย่างไร ที่จะช่วยพยุงเงินในกระเป๋าของประชาชนยังคงมีอยู่มีใช้ รวมไปถึงมีมากขึ้นในยุควิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ควบคุมดูแล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สานนโยบายเพื่อมาต่อยอดทางความคิด และการดำเนินงานทันที และล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการ สคช. โดยมี นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการ สคช. เป็นประธานการประชุม และในฐานะที่เป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้ระดมทุกความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งในมิติแรงงาน อาชีพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อหามาตรการช่วยเหลือคนในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้สามารถเข้าสู่สภาพคล่องให้ได้โดยเร็ว ด้าน ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวเสริมว่า สคช. จะพลิกวิกฤติการระบาดของโรค อาศัยช่วงที่คนระมัดระวังตัวในการเดินทาง อยู่แต่บ้าน มาสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาทักษะ สมรรถนะในอาชีพ สามารถนำความรู้ไปสร้าง และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งสร้างอาชีพทางรอดอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 ได้ ภายใต้แนวคิด สคช. ช่วยไทย สร้างการเรียนรู้ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ ทั้งนี้ สคช. ได้ออกมาตรการแนวทางการช่วยเหลือ ได้แก่ มาตรการที่ 1 ประกาศลดค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะด้านการใช้ อีคอมเมิร์ซ โดยค่าสมัครเข้ารับการประเมินมาตรฐานสมรรถนะ ปกติเก็บ 300 บาท แต่ลดเหลือ 150 บาท ค่าธรรมเนียมการประเมินมาตรฐานสมรรถนะ อีคอมเมิร์ซ ระดับ 1 ปกติเก็บค่าธรรมเนียมการประเมิน (สอบ) เป็นเงิน 400 บาท เหลือเก็บเพียง 150 บาท ระดับ 2 ปกติเก็บ 500 บาท แต่ สคช. จะสนับสนุนให้ 250 บาท เหลือเก็บค่าธรรมเนียมการสอบเพียง 250 บาท ทั้งนี้สงวนสิทธิ์คนละ 1 ครั้ง ต่อ 1 สิทธิ์ เบื้องต้นกำหนดงบประมาณสนับสนุนค่าธรรมเนียมการสอบ 1,000 คน นอกจากนี้ให้ลดค่าธรรมเนียมการประเมิน (สอบ) ตามมาตรฐานอาชีพต่างๆ จากเดิมเก็บ 500 บาท ลดเหลือเก็บเพียง 250 บาท เท่านั้น มาตรการที่ 2 สนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะเต็มจำนวนในบางอาชีพ ได้แก่ การประเมินมาตรฐานสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษ (English Proficiency), การประเมินมาตรฐานสมรรถนะด้านการขับขี่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน โดยให้เก็บเฉพาะค่าสมัครสอบ แต่เก็บค่าสมัครเพียงครึ่งเดียวโดยค่าสมัครสอบ 300 บาท เก็บเพียง 150 บาท เท่านั้น นอกจากนี้ สถาบันฯ จะสนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินตามมาตรฐานอาชีพให้กลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ประกอบไปด้วย นักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือสำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 1 ปี และกลุ่มผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาชีพที่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่สถาบันฯ จะสนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินมาตรฐานอาชีพเต็มจำนวน ได้แก่ อาชีพช่างทำผม อาชีพผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี อาชีพเกษตรกร ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง ต่อยอดการสร้างแพลตฟอร์มตลาดดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย มาตรการที่ 3 การจัดอบรมออนไลน์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ นำร่อง 10 อาชีพ ที่ สคช. ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำมาตรฐานอาชีพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ เทคนิคการแต่งหน้า, เทคนิคการทำผม, ทำตลาดออนไลน์, เทคนิคเมนูง่ายๆ แต่อร่อยอย่างเชฟระดับโลก, เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อการขาย, ตัดต่อ ทำคลิปง่ายๆ เพียงใช้โทรศัพท์มือถือ, เป็นนายหน้าอย่างมืออาชีพด้วยกูรูที่ได้การันตีมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024, เทคนิคง่ายๆ ในการดูแล เข้าใจผู้สูงอายุ และเด็ก รวมทั้งเทคนิคง่ายๆ ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน ซึ่งจะมีการมอบใบประกาศให้ด้วยสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม สำหรับการจัดอบรมจะเปิดอบรม จะดำเนินการผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่มีทั้งเฟซบุ๊ก แฟนเพจ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เว็บไซต์ หรือช่องทางยูทูป ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ E-Training ของสถาบันฯ ผู้ที่เข้าอบรมจะได้เทคนิคต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงได้ในชีวิตประจำวัน เสริมทักษะในอาชีพ รวมทั้งนำไปต่อยอดขยายผลให้กับธุรกิจ หรือในอาชีพของตัวเอง จนสามารถสร้างเป็นอาชีพทางรอดอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 ได้ด้วย นับเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจทัล และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแรงงาน (Life Long Learning) ตามแนวทางรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดการอบรม รวมทั้งประกาศการลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้จากในเว็บไซต์สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) www.tpqi.go.th

  • สคช. ออก 3 มาตรการด่วน ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

    15.01.2564
    669 View

    สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ออกมาตรการช่วยคนในอาชีพทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งลด - ยกเว้น ค่าธรรมเนียมการสอบ แถมจัดอบรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มีมติเห็นชอบให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดระลอกใหม่ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ภาครัฐดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ช่วยให้คนมีอาชีพเสริมรองรับวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีมติเห็นชอบในหลักการให้ประกาศลด และยกเว้นค่าธรรมเนียมการเข้าประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ รวมทั้งเปิดอบรมออนไลน์ให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับทุกคน ทุกอาชีพ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 ในอนาคต และยังเป็นช่องทางในการต่อยอดเข้าสู่การประเมิน เพื่อได้รับการรับรองความเป็นมืออาชีพจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สคช. ภายใต้แนวคิด “สคช. ช่วยไทย สร้างการเรียนรู้ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ” สำหรับมาตรการแรก คณะกรรมการเห็นชอบให้ประกาศลดค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะด้านการใช้อีคอมเมิร์ซ และการประเมินสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษโดยค่าสมัครเข้ารับการประเมินมาตรฐานสมรรถนะ ปกติเก็บ 300 บาท แต่ลดเหลือ 150 บาท สงวนสิทธิ์คนละ 1 ครั้ง ต่อ 1 สิทธิ์ มาตรการที่ 2 คือ สนับสนุนค่าธรรมเนียมการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ 1 คน ต่อ 1 อาชีพ ต่อ 1 ระดับคุณวุฒิวิชาชีพ สำหรับสาขาวิชาชีพเกษตรกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ สาขาท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร รวมทั้งสาขาจัดส่งอาหาร ในอาชีพผู้ให้บริการจัดส่งอาหารด้วยรถจักรยานยนต์ รวมทั้งผู้ต้องขัง หรือเยาวชนผู้กระทำความผิด มาตรการที่ 3 คือการจัดอบรมออนไลน์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นำร่อง 10 อาชีพ อาทิ เทคนิคการแต่งหน้า, เทคนิคการทำผม, ทำตลาดออนไลน์, เทคนิคเมนูง่ายๆ แต่อร่อยอย่างเชฟระดับโลก, เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อการขาย, ตัดต่อ ทำคลิปง่ายๆ เพียงใช้โทรศัพท์มือถือ, เป็นนายหน้าอย่างมืออาชีพ, เทคนิคง่ายๆ ในการดูแล เข้าใจผู้สูงอายุ และเด็ก รวมทั้งเทคนิคง่ายๆ ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน โดยผู้ที่เข้าอบรมจะได้เทคนิคต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงได้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งนำไปต่อยอดขยายผลให้กับธุรกิจ หรือในอาชีพของตัวเองได้ในระยะเวลาอันสั้น เสริมทักษะในอาชีพ และจะเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอน เรียกว่า สคช. พร้อมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามนโยบายรัฐบาล Life Long Learning ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.tpqi.go.th และหน้าเพจเฟซบุ๊ก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)